สมาคมการเชื่อมของอเมริกา ได้ให้คำจำกัดความกระบวนการการเชื่อมว่า “เป็นกระบวนการในการเชื่อมติดเนื้อวัสดุเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันโดยการให้ความร้อนกับวัสดุด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสม อาจจะมีการใช้แรงดันร่วมด้วย หรือ อาจจะใช้แรงดันเพียงอย่างเดียว และอาจจะใช้สารตัวเติม/ ลวดเชื่อมด้วยก็ได้”
ประเภทของการเชื่อมแบบต่างๆ
1. การเชื่อมอาร์ก (Arc welding) แบ่งได้ 8 ชนิด
• การเชื่อมอาร์กคาร์บอน (CAW): เป็นกระบวนการเชื่อมที่ทำให้เกิดการรวมตัวของเนื้อโลหะโดยการให้ความร้อน ทั้งนี้ใช้การอาร์กระหว่างแท่งอิเล็กโทรดคาร์บอน กับตัวชิ้นงาน อาจจะใช้แรงดันกับลวดเชื่อมด้วยหรือไม่ก็ได้ นิยมใช้แบบแท่งคู่
• การเชื่อมอาร์กลวดใส้ฟลักซ์ (FCAW): เป็นกระบวนการที่ได้รับความร้อนจากการอาร์กระหว่างลวดเชื่อมที่มีฟลักซ์อยู่ในแกนกลางซึ่งป้อนเข้ามาอย่างต่อเนื่องกับชิ้นงาน บริเวณอาร์กจะมีแก๊สและสแล็กปกคลุมแนวเชื่อมซึ่งเกิดจากการหลอมของฟลักซ์ ถ้าต้องการแนวเชื่อมที่มีคุณภาพ จะใช้แก๊สปกคลุมจากภายนอกมาช่วย เช่น แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์
• การเชื่อมอาร์กโลหะแก๊สคลุม (GMAW): เป็นกระบวนการที่ได้รับความร้อนจากการอาร์กระหว่างลวดเชื่อมที่ป้อนเข้ามาแบบต่อเนื่องกับชิ้นงาน ทำให้ลวดเชื่อมและชิ้นงานบริเวณการอาร์กหลอมละลายรวมตัวกันเป็นแนวเชื่อม บริเวณการอาร์กจะได้รับการปกคลุมจากแก๊สที่จ่ายมาจากแหล่งกำเนิดภายนอก แบ่งออกตามชนิดของแก๊สคลุมได้ 2 ชนิด คือ การเชื่อมมิก (MIG : Metal Inert Gas) ใช้แก๊สเฉื่อย เช่น อาร์กอนหรือฮีเลียม หรือทั้งสองอย่างผสมกันมาใช้เป็นแก๊สปกคลุม อีกชนิดหนึ่งคือ การเชื่อมแมก (MAG : Metal Active Gas) จะใช้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นแก๊สปกคลุม
• การเชื่อมอาร์กทังสเตนแก๊สคลุม (GTAW): เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการเชื่อมทิก (TIG) เป็นกระบวนการเชื่อมที่ได้รับความร้อนจากการอาร์กระหว่างแท่งทังสเตน (ไม่หลอมละลาย) กับชิ้นงานทำให้ชิ้นงานบริเวณการอาร์กหลอมละลายซึ่งจะเติมลวดเชื่อมหรือไม่เติมลวดเชื่อมก็ได้
• การเชื่อมอาร์กพลาสมา (PAW): เป็นการเชื่อมที่ได้รับความร้อนจากลำแสงพลาสมาที่เกิดจากการอาร์ก ระหว่างแท่งทังสเตนกับหัวฉีดทองแดงที่หล่อเย็นด้วยน้ำ แล้วใช้แก๊สเฉื่อยหรือแก๊สไฮโดรเจนอัดผ่านการอาร์ก ลำแสงพลาสมาจะหลอมละลายชิ้นงาน ใช้ลวดเชื่อมเติมลงในบ่อหลอมละลายหรือไม่ก็ได้ บริเวณบ่อหลอมละลายจะใช้แก๊สปกคลุมจากภายนอกมาช่วย แบ่งได้ 2 ชนิด คือ ทรานเฟอร์อาร์ก มักใช้กับการเชื่อมและการตัด และนอนทรานเฟอร์อาร์กมักใช้กับการพ่นพอก
• การเชื่อมอาร์กลวดเชื่อมสารพอกหุ้ม (SMAW): เป็นกระบวนการที่ได้รับความร้อนจากการอาร์กระหว่างลวดเชื่อมกับชิ้นงาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้แรงกดเป็นพิเศษในการเชื่อม ลวดเชื่อมและชิ้นงานบริเวณการอาร์กจะหลอมละลายรวมตัวกันเป็นแนวเชื่อม ส่วนสารพอกหุ้มจะเกิดเป็นแก๊สและสแล็กปกคลุมแนวเชื่อมจากบรรยากาศภายนอก
• การเชื่อมสลัก (SW): เป็นการทำให้โลหะเกิดการหลอมละลายโดยการให้ความร้อนจากการอาร์กระหว่างสลักโลหะกับชิ้นงาน เมื่อบริเวณผิวถูกเชื่อมติดกันอันเนื่องมาจากความร้อนก็จะทำให้เกิดการเชื่อมติดภายใต้แรงกด
• การเชื่อมอาร์กใต้ฟลักซ์ (SAW):เป็นกระบวนการที่ได้รับความร้อนจากการอาร์กระหว่างลวดเชื่อมเปลือยที่ป้อนเข้ามาอย่างต่อเนื่องกับชิ้นงาน โดยลวดเชื่อมจะหลอมละลายเติมในแนวเชื่อม และบางครั้งอาจเติมแท่งลวดเชื่อมเสริมเข้าไป บริเวณอาร์กจะถูกปกคลุมด้วยฟลักซ์ป่นเป็นผงละเอียด ทำให้เกิดการอาร์กอยู่ใต้ฟลักซ์ ซึ่งฟลักซ์ส่วนหนึ่งจะหลอมละลายเป็นสแล็กปกคลุมแนวเชื่อม
2. การบัดกรีแข็ง (B ): เป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการหลอมรวมตัวของเนื้อโลหะโดยการให้ความร้อนที่อุณหภูมิที่เหมาะสม มีการใช้โลหะประสาน โดยโลหะประสานจะหลอมตัวไปแทรกอยู่ที่รอยเชื่อมต่อด้วยแรงตึงผิว การบัดกรีแข็งนี้เป็นรูปแบบการเชื่อมแบบพิเศษ เนื่องจากไม่มีการหลอมละลายของเนื้อโลหะ และสัมพันธ์กับกระบวนการเชื่อมที่ใช้ทองเหลืองและทองแดงเป็นโลหะประสาน แต่จะไม่มีการกระจายตัวของโลหะประสานด้วยแรงตึงผิว วิธีการบัดกรีแข็งที่นิยมใช้มีทั้งหมด 7 ชนิดคือ การบัดกรีแข็งแพร่ (DFB) การบัดกรีแข็งแบบจุ่ม (DB) การบัดกรีแข็งในเตา (FB) การบัดกรีแข็งเหนี่ยวนำ (IB) การบัดกรีแข็งอินฟราเรด (IRB) การบัดกรีแข็งด้วยความต้านทาน (RB) การบัดกรีแข็งด้วยเปลวไฟ (TB)
3. การเชื่อมแก๊ส (OFW): เป็นกระบวนการเชื่อมที่ใช้ความร้อนจากเปลวจากแก๊สออกซิเจน เพื่อหลอมละลายบริเวณที่ทำการเชื่อม อาจจะใช้แรงกดและลวดเชื่อมร่วมด้วย การเชื่อมแก๊สมี 4 แบบ 2 แบบแรกคือ การเชื่อมออกซิ-อะเซทิลีน (OAW) และการเชื่อมออกซิ-ไฮโดรเจน (OHW) ซึ่งเปลวไฟได้จากปฏิกิริยาเคมี หรือการเผาไหม้ของแก๊ส เป็นตัวให้ความร้อน ส่วนการเชื่อมอะเซทิลีน-อากาศ (AAW) จะใช้อากาศแทนออกซิเจน และท้ายสุด คือ การเชื่อมแก๊สใช้แรงกด (PGW) มักจะใช้แก๊สอะเซทิลีนเป็นแก๊สเชื้อเพลิง และใช้แรงกดร่วมด้วย
4. การเชื่อมด้วยความเสียดทาน (RW ): เป็นกระบวนการเชื่อมโดยอาศัยความต้านทานต่อการไหลของกระแสไฟฟ้าของตัวชิ้นงานเอง ทำให้เกิดความร้อนขึ้นหลอมชิ้นงานบริเวณที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่าน แล้วใช้แรงกดให้ชิ้นงานติดกัน ความแตกต่างของงานเชื่อมแบบนี้ ขึ้นกับการออกแบบงานเชื่อมและเครื่องจักรที่ใช้ ได้แก่ การเชื่อมชนวาบ (FW) การเชื่อมความต้านทานความถี่สูง (HFRW) การเชื่อมกระแทก (PEW) การเชื่อมโพรเจกชัน (RPW) การเชื่อมจุด (RSW) การเชื่อมตะเข็บ (RSEW) และการเชื่อมอัพเสท (UW)
5. การเชื่อมในสถานะของแข็ง (SSW): เป็นกระบวนการเชื่อมโดยการหลอมเนื้อโลหะเข้าด้วยกันที่อุณหภูมิเฉพาะ ซึ่งต่ำกว่าจุดหลอมเหลวของเนื้อโลหะ อาจจะใช้แรงกดร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ เช่น การเชื่อมกดเย็น (CW) การเชื่อมแพร่ (DFW) การเชื่อมกดระเบิด (EXW) การเชื่อมตีทุบ (FOW) การเชื่อมกดเสียดทาน (FRW) การเชื่อมกดร้อน (HPW) การเชื่อมหมุน (ROW) การเชื่อมอัลตร้าโซนิก (USW)
6. การบัดกรี (S): เป็นกระบวนการเชื่อมโดยให้ความร้อนเพื่อหลอมละลายเนื้อโลหะเข้าด้วยกันที่อุณหภูมิที่เหมาะสม โดยใช้โลหะประสาน ซึ่งจะมีการกระจายตัวที่ผิวของรอยต่อด้วยแรงตึงผิว ประกอบด้วย การบัดกรีแบบจุ่ม (DS) การบัดกรีในเตา (FS) การบัดกรีในเตาเหนี่ยวนำ (IS) การบัดกรีด้วยอินฟราเรด (IRS)การบัดกรีด้วยหัวแร้ง (INS) การบัดกรีด้วยความต้านทาน (RS) การบัดกรีด้วยเปลวไฟ (TS) การบัดกรีด้วยคลื่น (WS)
7. การเชื่อมแบบอื่นๆ อาทิเช่น การเชื่อมลำแสงอิเล็กตรอน (EBW) การเชื่อมอิเล็กโทรสแล็ก (ESW) การเชื่อมเลเซอร็ (LBW)การเชื่อมเหนี่ยวนำ (IW) การเชื่อมเทอร์มิท (TW)
8. กระบวนการเกี่ยวเนื่อง แบ่งได้ 3 ชนิด
• การพ่นพอกด้วยความร้อน (THSP)
• การต่อด้วยกาว (ABD)
• การตัดด้วยความร้อน (TC) ได้แก่ การตัดด้วยออกซิเจน (OC) การตัดด้วยอาร์ก (AC) และการตัดอื่นๆ
Cr:http://www.ebuild.co.th
Cr pic:www.worldskills.org