อีกหนึ่งวัสดุที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลาคือ บ้านโครงสร้างเหล็ก ยุคสมัยผ่านไปสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยก็เปลี่ยนไปตามบริบทต่างๆ โครงสร้างอาคารบ้านเรือนก็เช่นกัน จากโครงสร้างไม้ สู่โครงสร้างคอนกรีต จนมาถึงบ้านโครงสร้างเหล็ก
ปัจจุบันวัสดุที่นิยมเลือกปลูกสร้างโครงสร้างบ้านก็จะเป็น บ้านโครงสร้างเหล็ก และคอนกรีต ส่วนโครงสร้างไม้ไม่เป็นนิยมด้วยปัจจัยในเรื่องความแข็งแรงและการเสื่อมสภาพ ซึ่งวัสดุทั้งสองชนิดก็มีข้อดี-ข้อด้อยแตกต่างกัน
•เลือกโครงสร้างเหล็ก ให้เหมาะกับบ้าน
•เหตุผลดีๆ ที่คุณต้องใช้โครงสร้างเหล็ก
ครั้งนี้เราจึงอยากจะพาไปรู้จักเกี่ยวกับบ้านโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กและบ้านโครงสร้างเหล็ก ให้มากขึ้น สำหรับใครที่กำลังเก็บเงินจะปลูกบ้านแต่ชั่งใจว่าจะเลือกสร้างบ้านแบบไหนดี เป็นตัวตัดสินใจให้ผู้อ่านกัน
บ้านโครงสร้างเหล็ก
นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนที่เบื่อบ้านปูนและบ้านไม้กันแล้ว ปัจจุบันมีทางเลือกที่สามารถใช้เหล็กรูปพรรณสร้างบ้านได้เกือบทั้งหลัง โดยนำมาเชื่อมต่อกันเป็นเสา คาน โครงรับพื้น โครงหลังคา และโครงผนัง ซึ่งมีให้เลือกหลายรูปร่างหน้าตัด เช่น สี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้า เหล็กรูปตัวซี เหล็กตัวซีรางน้ำ เหล็กฉาก เป็นต้น ซึ่งจุดเด่นของเหล็กคือ เป็นวัสดุสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงงานมาอยู่แล้ว จึงได้มาตราฐานดีกว่าปูนหรือไม้ อีกทั้งยังประหยัดเวลาการก่อสร้างได้ดีกว่างานคอนกรีตเสริมเหล็กเท่าตัวเลยทีเดียว
บ้านโครงสร้างเหล็ก
ข้อดี
- ประหยัดเวลาในการก่อสร้าง เพราะแต่ละโครงสร้างถูกผลิตมาจากโรงงานแล้ว พอถึงหน้างานจึงเสมือนแค่ประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เท่านั้น
- มีความแข็งแรงไม่ต่างกับโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กเท่าไหร่
- สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ปลูกสร้างได้ยากมีข้อจำกัดสูงได้ดีกว่าการสร้างบ้านคอนกรีต
- เสาคานเหล็กมีขนาดเล็กทำให้ภายในบ้านโล่งกว้างไม่มีส่วนของเสาหรือคานโผล่ซึ่งทำให้จัดวางเฟอร์นิเจอร์ได้ง่าย
- การเดินระบบอย่าง เดินท่อประปา เดินท่อร้อยสายไฟ สามารถทำได้ง่าย
- ผู้ที่ชื่นชอบความดิบเปลือย การโชว์เนื้อวัสดุ หรือการตกแต่งบ้านสไตล์ Loft, Industrial บ้านโครงสร้างเหล็กเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี
ข้อเสีย
- งบประมาณค่อนข้างสูง เนื่องด้วยวัสดุมีราคาสูง ทำให้ต้นทุนวัสดุมีราคาแพงกว่าบ้านที่ก่อด้วยวัสดุอื่นประมาณ 30%
- บริษัทที่รับสร้างมีไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ อีกทั้งช่างผู้เชี่ยวชาญยังหาได้ค่อนข้างยาก
- ความยากของการสร้างบ้านโครงสร้างเหล็กคือ การเชื่อม จำเป็นต้องให้ช่างที่มีความชำนาญสูงในการดูแลงาน
- มีค่าบำรุงรักษาระยะยาว ค่าทาสี ป้องกันสนิม ฯลฯ
บ้านโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก
เรียกย่อๆได้ว่า “โครงสร้าง ค.ส.ล.” ซึ่งถือเป็นที่นิยมมานานเพราะวัสดุที่หาได้ง่ายและมีราคาถูกกว่าการโครงสร้างแบบอื่นๆ มีส่วนประกอบหลักคือ ปูนซีเมนต์ หิน กรวดหรือทราย และน้ำ และเสริมด้วยเหล็กเข้าไป เพราะคอนกรีตมีคุณสมบัติในการรับแรงอัดได้ดี แต่รับแรงดึงได้ค่อนข้างต่ำมาก จึงจำเป็นต้องเสริมเหล็กเข้าไปเพื่อเพิ่มคุณสมบัติแรงดึง ทำให้รับแรงของวัสดุโดยรวมได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งรับน้ำหนักได้ประมาณ 200 – 400 กิโลกรัมต่อตารางเมตร สำหรับบ้านพักอาศัยและอาคารทั่วไป
ปัจจุบันโครงสร้างคอนกรีตผสมเหล็กถูกพัฒนามาต่อเนื่องด้วยคุณภาพที่ได้มาตราฐานดีกว่าเมื่อก่อน สามารถหล่อขึ้นรูปได้หลากหลายรูปแบบ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีส่วนที่ต้องใช้ความชำนาญและความละเอียดรอบคอบของช่าง ทั้งในขั้นตอนเทคอนกรีต การบ่มคอนกรีต จนไปถึงการผูกเหล็กและทาบเหล็ก เพื่อให้คอนกรีตแข็งแรงเต็มประสิทธิภาพ
ข้อดี
- มีความแข็งแรง ทนทานมากกว่าบ้านโครงสร้างเหล็ก
- ทั้งปูนซีเมนต์ หิน กรวด ทราย เป็นวัสดุที่มีราถูกกว่าโครงสร้างเหล็ก จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างดี
- เนื่องจากเป็นสิ่งที่มีในเมืองไทยมานานแล้ว ปัจจุบันจึงมีผู้รับเหมาและช่างที่ชำนาญอยู่มากพอสมควร จึงไม่เป็นเรื่องยุ่งยากในการติดต่อหาช่างมารับงาน
- การดูแลรักษาง่ายกว่าและถูกกว่าโครงเหล็ก ทั้งยังมีวิธีแก้ไขที่ไม่ยุ่งยาก รวดเร็วกว่า
ข้อเสีย
- ถึงแม้ปัจจุบันจะคอนกรีตสำเร็จรูปที่ช่วยประหยัดเวลาการก่อสร้าง แต่ถ้าเทียบกับโครงสร้างเหล็กแล้วก็ยังใช้ระยะเวลาการก่อสร้างมากกว่าอยู่ดี
- ค่าใช้จ่ายในส่วนวัสดุก็จริง แต่ค่าแรงช่างอาจแพง เนื่องจากต้องใช้เวลานานในการก่อสร้าง ค่าแรงช่างจึงแพงตามระยะเวลาการก่อสร้าง
- ด้านสิ่งแวดล้อมงานคอนกรีตมักทิ้งร่องรอยความสกปรกไว้บริเวณก่อสร้างมาก อีกทั้งมลพิษทางเสียงยังมากกว่างานโครงสร้างเหล็ก
- เมื่อมีงานต่อเติมจะค่อนข้างยุ่งยากกว่างานโครงสร้างเหล็ก
- เมื่อมีน้ำหนักมาก จึงจำเป็นต้องใช้เสาเข็มจำนวนมากในการรับน้ำหนัก ค่าวัสดุก็เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นบ้านโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กหรือโครงสร้างเหล็ก อยากให้เจ้าของบ้านลองตั้งเป็นข้อๆ แล้วตอบตัวเองว่าต้องการแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณ การดูแลรักษาหลังจากสร้างเสร็จ ด้านการออกแบบ แล้วลองตัดสินใจกันดูครับ เพราะแต่ละแบบก็มีข้อดี-ข้อด้อยแตกต่างกันไป แต่สำคัญที่สุดคือ ความมั่นคงแข็งแรง ดังนั้นควรให้วิศวกรตรวจสอบความแข็งแรงทั้งระหว่างงานก่อสร้างและหลังจากก่อสร้างเสร็จอย่างละเอียดจะดีที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ baanlaesuan.com