เข้าสู่ฤดูหนาวกันแล้วนะคะ ท่ามกลางอากาศหนาวๆแบบนี้ ช่วงเวลาแห่งการอาบน้ำคงไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้รับความอบอุ่นและ ผ่อนคลายจากการอาบน้ำอุ่น เครื่องทำน้ำอุ่นจึงเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อทราบถึงความจำเป็นที่ต้องใช้งานเครื่องทำน้ำอุ่นกันแล้ว มาดูประโยชน์ที่ได้รับจากการอาบน้ำอุ่นกันดีกว่า
ประโยชน์ที่ได้รับจากการอาบน้ำอุ่น
1. ช่วยการกระตุ้นโลหิตในร่างกายให้ไหลเวียนดีขึ้น รวมทั้งการเผาผลาญพลังงานดีขึ้นอีกด้วย เช่น ลองเอาผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นๆ
มาวางบนใบหน้าจะช่วยลดความเหนื่อยล้าของดวงตา และเลือดไหลเวียนบนใบหน้า ดูสุขภาพผิวดีมีเลือดฝาดอีกด้วย
2. ช่วยผ่อนคลายความเครียด ทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ยิ่งได้อาบน้ำอุ่นหรือแช่น้ำอุ่นก่อนนอนจะทำให้นอนหลับสนิทดีขึ้น และระหว่างการอาบน้ำหรือแช่น้ำ ได้เปิดเพลงเบาๆคลอไปด้วย หรือเพิ่มกลิ่นหอมๆจากอโรมาออยส์ จะทำให้ร่างกายและจิตใจเข้าสู่การผ่อนคลายยิ่งขึ้น
3. ช่วยชะล้างสิ่งสกปรกและสารต่างๆที่สะสมได้ดีกว่าน้ำธรรมดา ความอุ่นของน้ำจะช่วยเปิดรูขุมขนทำให้ผิวหายใจได้มากขึ้น จึงช่วยทำความสะอาดได้ดีกว่าเดิม
4. ช่วยบรรเทาอาการปวดไหล่ แช่น้ำอุ่นที่อุณภูมิ 38-40 องศาเซลเซียส เป็นเวลาประมาณ 20 – 30 นาที ระหว่างนั้น ยืดเส้นยืดสาย ขยับไหล่ขยับแข้งขา จะช่วยให้อาการตึงตามไหล่หรือศีรษะลดลงได้
5. ช่วยลดอาการมือเท้าเย็น แช่น้ำอุ่นที่ที่อุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส ประมาณ 30 นาที น้ำอุ่นช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด โดยหลังจากแช่น้ำแล้ว เปิดน้ำอุ่นๆสลับน้ำเย็น ลงไปบนบริเวณที่มักมีอาการ จะช่วยลดการมือเท้าเย็นได้
เมื่อทราบถึงประโยชน์จากการอาบน้ำอุ่นกันแล้ว ใครยังไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่นสำหรับฤดูหนาวนี้ มาดูวิธีการเลือกซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นและการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นอย่างปลอดภัยกันค่ะ
การเลือกซื้อและติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่น
1. อันดับแรกที่ต้องพิจารณา คือ ความต้องการใช้งาน เช่น สำหรับครอบครัวขนาดเล็ก ที่ใช้น้ำอุ่นเฉพาะเวลาอาบน้ำ ควรเลือกซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นแบบ Single Point ที่ทำความร้อนจากเครื่องทำน้ำอุ่น 1 ตัวต่อ 1 จุด และหากเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ ที่ใช้น้ำอุ่นในหลายๆจุดในบ้าน เช่น ห้องน้ำ อ่างล่างหน้า อ่างล้างมือ ควรเลือกซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นแบบ Multi Point ที่ให้ความร้อนของน้ำได้หลายจุดพร้อมๆกัน ผ่านท่อน้ำร้อนและวาล์วผสมที่ติดตั้งไว้ในบ้าน
2. ตรวจดูกำลังไฟที่บ้าน เช่น หากที่บ้านใช้มิเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 5(15) ควรใช้เครื่องทำน้ำอุ่นกำลังไฟไม่เกิน 3,500 วัตต์ หากที่บ้านใช้มิเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 15(45) ควรใช้เครื่องทำน้ำอุ่นกำลังไฟไม่เกิน 4,500 วัตต์ หรือ 6,000 วัตต์
3. เลือกประเภทหม้อต้มของเครื่องทำน้ำอุ่น เช่น หม้อต้มทองแดง มีข้อดีคือทนทานจากความร้อนจากแรงดันน้ำ ให้อายุการใช้งานที่ยาวนาน แต่ข้อเสียคือมีราคาแพง ส่วนหม้อต้มแบบพลาสติก มีข้อดีคือให้ความร้อนได้เร็ว จึงประหยัดพลังงานมากกว่าและมีราคาถูกกว่า แต่อาจมีอายุการใช้งานไม่คงทน
4. เลือกซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นที่ประหยัดพลังงานได้รับมาตรฐานประหยัดไฟเบอร์ 5 เพราะเครื่องทำน้ำอุ่นเป็นหนึ่งในเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่ใช้กำลังไฟมากเช่นกัน
5. ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยจากการใช้งานน้ำอุ่น นอกจากการติดตั้งสายดิน ควรเลือกซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นมีระบบตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติเมื่อไฟฟ้ารั่วหรือเกิน ELSD (Earth Leakage Safety Device) หรือ ELCB (Earth Leakage Circuit Breaker) แล้วยังมีระบบป้องกันหม้อทำความร้อนไหม้ มียางป้องกันน้ำเข้าทางช่องร้อยสายไฟ อีกทั้งสายไฟทุกเส้นต้องได้มาตรฐาน เป็นต้น
6. สำหรับการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่น ควรให้ช่างที่มีความชำนาญเรื่องการติดตั้ง มาดำเนินการให้จะดีกว่าติดตั้งด้วยตัวเอง เพราะหากติดตั้งไม่ถูกวิธีจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อีกทั้งการติดตั้งยังมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกตำแหน่งติดตั้ง การเดินสายไฟ การติดตั้งเบรกเกอร์เพื่อป้องกันไฟลัดวงจร การต่อสายดินเพื่อป้องกันไฟดูด รวมไปถึงการทดสอบการใช้งาน และตรวจการรั่วซึมต่างๆ ของเครื่องทำน้ำอุ่น ก่อนการใช้งาน
ข้อควรระวังในการใช้งานและการดูแลรักษาเครื่องทำน้ำอุ่น
1. หมั่นคอยตรวจเชคสายดินและสวิตช์ป้องกันไฟฟ้ารั่วหรือเกิน ELSD (Earth Leakage Safety Device) หรือ ELCB (Earth Leakage Circuit Breaker) ว่ายังสามารถใช้งานได้ตามปกติ
2. หมั่นตรวจสอบการทำงานของเครื่องให้มีสภาพดีอยู่เสมอ ตลอดจนตรวจดูระบบท่อน้ำและรอยต่ออย่าให้มีการรั่วซึม
3. ขณะอาบน้ำไม่ควรเปิดเครื่องทำน้ำอุ่นไว้ตลอดเวลา เช่น ตอนถูสบู่ หรือสระผม เพราะจะเป็นการสิ้นเปลือง และปิดวาล์วน้ำและสวิตซ์ทันทีที่เลิกใช้งาน
4. ขณะใช้งานไม่ควรงอ หรือพับสายฝักบัว เพราะจะทำให้สายฝักบัวชำรุด เกิดน้ำรั่วซึมได้ และควรเช็ดทำความสะอาดฝักบัวสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้มีตะกอนไปอุดตัน
5. การทำความสะอาดเครื่องทำน้ำอุ่น ให้ใช้ผ้านุ่มชุบน้ำบิดให้แห้งเช็ดบริเวณภายนอกตัวเครื่องเท่านั้น ห้ามให้น้ำเข้าในตัวเครื่อง เพราะอาจทำให้เกิดไฟช้อตได้ ที่สำคัญ ก่อนทำความสะอาดต้องปิดเบรกเกอร์ควบคุมไฟฟ้าทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัย
การตรวจเชคเบื้องต้นสำหรับเครื่องทำน้ำอุ่น
ระหว่างการใช้งานเครื่องทำน้ำอุ่นนั้น หากพบปัญหาว่าเครื่องทำน้ำอุ่นไม่ทำงานหรือเครื่องทำน้ำอุ่นไม่ร้อน มีวิธีการตรวจเชคเบื้องต้น ดังนี้ค่ะ
1. กรณีที่เมื่อเปิดไฟ เปิดน้ำแล้ว ไฟสีเขียวดวงล่างไม่ติด เครื่องทำน้ำอุ่นไม่ทำงาน
ควรตรวจเชค ดังนี้
- ตรวจเชคสวิทซ์ตัดไฟรั่วของเครื่องให้อยู่ในตำแหน่งใช้งานในลักษณะถูกดันขึ้น
- ตรวจเช็คสวิทซ์กดเปิด-ปิดน้ำร้อนน้ำเย็น อยู่ในสภาพดีไม่ชำรุด
- ตรวจเช็คขั้วยึดต่อสายไฟก่อนเข้าเครื่องทุกจุด
2. กรณีเมื่อเปิดไฟ เปิดน้ำแล้ว ไฟสีเขียวดวงล่างติด แต่ไฟสีแดงดวงบนไม่ติด เครื่องทำน้ำอุ่นไม่ทำงาน
ควรตรวจเชค ดังนี้
- ตรวจเช็คแรงดันน้ำว่ามีแรงดันเพียงพอสำหรับเครื่องหรือไม่ ซึ่งเครื่องทำน้ำอุ่นควรมีแรงดันที่จุดติดตั้งอยู่ระหว่าง 3-10 PSI เป็นอย่างน้อย
- ตรวจเช็คตะแกรงด้านล่างขวามือของเครื่องตรงปลายท่อน้ำเข้าของตัวเครื่อง จะมีชุดกรองและตะแกรงกรองติดอยู่ ต้องไม่อุดตัน
3. กรณีเมื่อเปิดไฟ เปิดน้ำแล้ว ทั้งไฟสีเขียวและสีแดง 2 ดวงติด แต่เครื่องทำน้ำอุ่นไม่ร้อน
ควรตรวจเชค ดังนี้
- ขดลวดฮีตเตอร์ขาด (ตรวจสอบโดยใช้โอมมิเตอร์วัด)
- เกิดการขัดข้องของชุดควบคุมความร้อน (ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ชุดควบคุมความร้อน)
- อาจจะไม่ได้หมุนสวิทซ์ปรับความร้อนขึ้นไปในตำแหน่งที่เหมาะสม
- ลักษณะของภูมิอากาศหนาวเย็นเกินกว่าที่เครื่องจะสามารถทำความร้อนได้ (ต้องปรับวาวล์ภายในตัวเครื่องให้เหมาะสมโดยให้เครื่องทำงานได้โดยเครื่องไม่ดับ)
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับประโยชน์และการใช้งานเครื่องทำน้ำอุ่น ฤดูหนาวนี้มีเครื่องทำน้ำอุ่นมาช่วยสร้างความอบอุ่นและความสดชื่นแล้ว เพราะฉะนั้น อย่าพลาดช่วงเวลาดีๆที่จะได้อาบน้ำอุ่นกันนะคะ และเพื่อสุขภาพผิวที่ดี ไม่ให้ผิวแห้ง ควรอาบน้ำอุ่นในอุณหภูมิ 27- 34 องศาเซลเซียส ไม่ควรอาบนานเกิน 10-15 นาที นะคะ
ขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.homedec.in.th เลือกซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นได้ที่ www.cdiscount.co.th