ความสำคัญของหลังคาบ้านและประเภทของหลังคาบ้าน
เรื่องเกี่ยวกับความสำคัญของหลังคาบ้านและประเภทของหลังคาบ้าน
บ้านเรือนไทยในสมัยโบราณ มีวิวัฒนาการของการใช้วัสดุที่นำมาสร้างหลังคาบ้าน เริ่มต้นกันตั้งแต่วัสดุธรรมชาติที่หาได้รอบๆตัวเช่นใบไม้ต่างๆ อาทิ หญ้าคา ใบตองตึง โดยนำมาจัดเรียงและมัดรวมกันเป็นผืนที่เรียกว่า ตับ โดย
การนำหญ้าคามาใช้นี่เอง จึงเป็นต้นกำเนิดคำเรียก “หลังคา” และวิวัฒนาการมาเป็นวัสดุที่มีความแข็งเช่น ไม้ เครื่องปั้นดินเผา ซีเมนต์ เป็นต้น (สมัยโบราณมีการนำเอาดินเหนียวมารีดเป็นแผ่นบางๆและนำไปเผาเกิดเป็นแผ่นดินเผาที่สามารถนำไปเป็นวัสดุมุงหลังคาได้ ในภาคเหนือเรียกว่าดินขอ เนื่องจากส่วนปลายจะพับเป็นรูปขอเกี่ยว 90 องศา
เพื่อให้เกี่ยวกับแปหลังคาบ้านได้ ซึ่งดินเผาจะดูดซึมน้ำได้เป็นอย่างดีทำให้เกิดความเย็นกับตัวบ้าน แต่ความชื้นก็อาจจะทำให้อายุการใช้งานของแผ่นดินเผาลดน้อยลง สมัยโบราณจึงต้องมีการปูทับหลายๆชั้นเพื่อป้องกันความเสียหาย และหลังคาก็ได้วิวัฒนาการมาสู่ปัจจุบันซึ่งมีการพัฒนาด้านความคงทนมากขึ้น เช่นหลังคาซีเมนต์ หลังคาใยหิน หลังคาสังกะสี เป็นต้น
“หลังคา” จึงเป็นส่วนประกอบหนึ่งของอาคารที่มีความสำคัญมาก ทั้งในเรื่องของการป้องกันความร้อน ฝน ลม และความหนาวเย็น รวมทั้งยังเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างเอกลักษณ์ให้อาคารได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นในปัจจุบันโครงสร้างและวัสดุที่นำมาทำเป็นหลังคามักจะให้ความสำคัญในเรื่องของความคงทนถาวร ทนทานต่อสภาพอากาศภายนอก และเป็นฉนวนกันความร้อนได้ดี เพื่อป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน
สำหรับรูปแบบของหลังคาที่นิยมออกแบบสำหรับบ้านในปัจจุบัน ได้แก่ หลังคาเพิงหมาแหงน หลังคาจั่ว หลังคาปั้นหยา หลังคาพื้นคอนกรีตเรียบ รวมถึงหลังคาในรูปแบบอิสระ เป็นต้น การพิจารณาว่าจะเลือกใช้หลังคาแบบใดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง รวมทั้งรูปแบบของอาคารด้วยเช่นกัน
รูปแบบของหลังคาบ้านที่ใช้กันโดยส่วนมากในปัจจุบัน
หลังคาบ้านทรงเพิงแหงนหรือหลังคาแหงน
1. หลังคาเพิงหมาแหงน หรือเพิงแหงนตามชื่อเป็นทรงหลังคาที่เน้นการสร้างที่ง่ายๆ นิยมสร้างสำหรับเพิงพักชั่วคราวในสวนในไร่ เป็นหลังคาที่มีลักษณะแบนราบแต่ลาดเอียงโดยยกด้านหน้าสูงกว่าด้านหลัง และมีเชิงชายรอบตัวบ้าน
โดยอาจจะออกแบบให้ด้านหน้ามีเชิงชายยื่นออกมามากกว่าด้านอื่นๆเล็กน้อยเพื่อให้บังแดดด้านหน้าบ้านได้ดี และการทำลาดเอียงจะช่วยระบายน้ำฝนได้เป็นอย่างดี โดยทั่วไปเราอาจจะพบเห็นหลังคาเพิงหมาแหงนในบ้านที่มีรูปทรงแบบสมัยใหม่ (Modern) และ อาจะมีการเพิ่มลูกเล่นในการทำหลังคาแบบ ซ้อนกันหรือทำแบบสองแผ่นเอียงไปคนละด้านก็ได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มลูกเล่นและความสวยงามให้แก่ตัวบ้าน
2. หลังคาบ้านทรงจั่ว (Gable Roof)
หลังคาบ้านแบบจั่ว ผืนหลังคาจะมีความลาดเอียงสองด้านชนกันที่ปลายสูงสุดของหลังคา สันสูงอยู่ตรงกลาง(ที่เรียกว่าดั้งหลังคา) เป็นหลังคาบ้านที่นิยมใช้กันทั่วไป เหมาะกับสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นของบ้านเรา เพราะจะมีมวลอากาศอยู่ใต้หลังคามาก
จึงเป็นเหมือนฉนวนกันความร้อนได้อย่างดี หากเจาะช่องระบายอากาศที่หน้าจั่วทั้งสองด้านก็จะช่วยระบายอากาศร้อนออกไปได้ดียิ่งขึ้น ก่อสร้างก็ง่าย กันแดดกันฝนได้ดีอีกทั้งยังเป็นรูปแบบทรงหลังคาที่ใช้กันมากในบ้านเรือนไทยสมัยโบราณ
ซึ่งในสมัยก่อนอาจจะมีการออกแบบให้ดั้งของหลังคาที่ความสูง เพื่อเพิ่มมุมลาดเอียงให้แก่หลังคาบ้าน ซึ่งจะช่วยทำให้น้ำฝนไหลลงได้อย่างสะดวก ลดการแตกหักของวัสดุมุงหลังคา จากลม ฝน ลูกเห็บ หรือกิ่งไม้ต่างๆ
3. หลังคาบ้านทรงปั้นหยา (Hip Roof)
หลังคารูปแบบนี้มีด้านลาดเอียงสี่ด้านขึ้นไปชนกันคล้ายๆปิรามิด ได้รับความนิยมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยรับอิทธิพลมาจากชาวตะวันตก ในสมัยรัชการที่ 5 -6 สามารถกันแดดกันฝนได้ทุกด้าน สวยงาม ทนต่อการปะทะของแรงลมได้ดี
แต่ไม่มีหน้าจั่วเพื่อระบายอากาศร้อน จึงอาจจะต้องระบายทางพื้นชายคาแทน แต่ก็จะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรเนื่องจากอากาศร้อนจะลอยตัวขึ้นสู่ที่สูง ดังนั้นการก่อสร้างบ้านโดยการใช้หลังคาปั้นหยาอาจจะต้องใช้วัสดุกันความร้อนอย่างอื่นเข้าช่วยเช่น แผ่นสะท้อนความร้อน หรือฉนวนกันความร้อน
4. หลังคากึ่งปั้นหยากึ่งจั่ว
เป็นหลังคาที่ประยุกต์นำจุดเด่นของหลังคาปั้นหยาซึ่งมีความแข็งแรง สามารถรับแรงปะทะจากลม แดด ฝน ได้ทุกด้านของบ้าน มีลักษณะเหมือนทรงปั้นหยาแต่ส่วนบนจะมีปลายจั่ว รวมกับจุดเด่นของหลังคาจั่วในเรื่องการระบายความร้อนออกมาจากหน้าจั่วได้ดี เนื่องจากมีช่องอากาศที่หน้าจั่วซึ่งลมสามารถพัดเข้าไปไล่อากาศร้อน รวมถึงอากาศร้อนก็จะลอยตัวออกมาจากหน้าจั่วนี้ได้
ซึ่งลักษณะของหลังคาดังกล่าวพบเห็นมากในบ้านเรือนทรงไทยล้านนาในภาคเหนือ และยังคงถูกนำมาใช้กันมากในปัจจุบัน เพราะนอกจากจะมีข้อดีมากแล้วยังมีความสวยงามและมีเอกลักษณ์อีกด้วย
5. หลังคาเรียบ (Flat Slab Roof) ส่วนมากเป็นหลังคาคอนกรีต มีลักษณะแบนราบเป็นระนาบเดียวกับพื้น แต่ต้องมีความลาดเอียงเล็กน้อยเทไปยังช่องที่เจาะเพื่อระบายน้ำฝนออกไป หรือเทไปยังท่อระบายบนหลังคา (Roof Drain)
นิยมใช้สร้างเป็นหลังคาอาคารประเภทตึกแถว คอนโด และบ้านในรูปแบบสมัยใหม่ในรูปทรงเรขาคณิต (สไตล์โมเดิร์น) พื้นหลังคาสามารถจัดเป็นพื้นที่ใช้สอยได้อย่างเต็มที่ เช่น วางถังเก็บน้ำ ตากผ้า นั่งเล่น และจัดสวน แต่เนื่องจากหลังคาประเภทนี้ดูดซับความร้อนและรับน้ำฝนโดยตรง จึงต้องมีการป้องกันการรั่วซึมที่ดี เช่น การผสมสารกันรั่วซึมในคอนกรีตระหว่างที่เทหลังคา เมื่อคอนกรีตแห้งแล้วให้ทาผลิตภัณฑ์กันรั่วกันซึมทับอีกครั้ง
สรุปข้อดีข้อเสียของหลังคาแต่ละประเภท
ประเภทหลังคา | ข้อดี จุดเด่น | ข้อเสีย จุดด้อย |
หลังคาทรงเพิงแหงน | สร้างง่าย ประหยัดงบประมาณ | ป้องกัน แดด ลม ฝน ได้เฉพาะด้านหน้า |
หลังคาทรงจั่ว | สร้างง่าย ระบายความร้อนได้ดี | ไม่สามารถป้องกัน แดด ลม ฝนด้านหน้าจั่วได้ |
หลังคาทรงปั้นหยา | สร้างง่าย ทนทานป้องกันแดดฝนได้ดี | ไม่สามารถระบายความร้อนจากหลังคาได้ |
หลังคาทรงเรียบ | สร้างง่าย งบน้อย ใช้พื้นที่หลังคาได้ | ระบายน้ำไม่ดี มีความร้อนสูง |
หลังคากึ่งจั่วกึ่งปั้นหยา | ป้องกันแดด ลมฝนได้ทุกด้าน และสามารถระบายความร้อนจากหลังคาได้ดี | สร้างยาก มีราคาสูงกว่าแบบอื่น |
ขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.thaihomeplan.com