เหล็กเบา (“เหล็กโรงเล็ก” หรือ “เหล็กไม่เต็ม”)
หมายถึง เหล็กเส้นหรือเหล็กรูปพรรณ ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหรือขนาดหน้าตัด และน้ำหนักไม่ได้ตามที่มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) กำหนดไว้ มักเป็นเหล็กรีดซ้ำ (นำเศษเหล็กที่ใช้งานแล้ว หรือเศษเหล็กเสียสภาพมารีดใหม่อีกครั้ง) ส่งผลให้มีค่าการรับแรงอัดและแรงดึงได้น้อยลง ไม่เป็นไปตามที่วิศวกรออกแบบไว้ ซึ่งหากนำไปใช้ในงานโครงสร้างอาคารอาจก่อให้เกิดอันตราย แตกหักเสียหาย หรือพังทลายลงมาภายหลังได้ ดังนั้น สำหรับงานโครงสร้างอาคารจึงควรเลือกใช้ “เหล็กเต็ม” เพื่อความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม เหล็กเบาสามารถใช้ในงานหล่อคอนกรีตเสริมเหล็กที่ไม่ได้รับน้ำหนักมากนัก เช่น เหล็กเส้นในงานหล่อกระถางต้นไม้ เหล็กหนวดกุ้งในผนังก่ออิฐ เหล็กกล่องทำโครงสวนแนวตั้ง ทำหลังคากันสาดขนาดเล็ก หรือตกแต่งประตูรั้ว เป็นต้น
หมายเหตุ: การตรวจสอบเบื้องต้นด้วยตาเปล่าว่าเป็นเหล็กเต็มหรือไม่ ให้สังเกตที่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง หรือหน้าตัดเหล็กซึ่งต้องเท่ากันตลอดความยาวเส้น ผิวเหล็กเรียบ หน้าตัดเหล็กไม่บิดเบี้ยว ไม่มีรูตามดหรือเป็นลูกคลื่น อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบได้จากป้ายรายละเอียดข้อมูลหรือ “ใบกำกับเหล็ก” ซึ่งจะระบุข้อมูลสำคัญต่างๆ เอาไว้ครบถ้วน อย่างเช่น ชื่อบริษัท ประเภทสินค้า ชั้นคุณภาพ ขนาด ความยาว จำนวนเส้นต่อมัด เลขที่เตาหลอม วัน/เวลาที่ผลิต หรือเลขที่ มอก. หรือหากไม่มีป้ายระบุสามารถสังเกตได้จากรอยประทับตรา มอก. บนผิวเหล็ก ซึ่งรอยประทับเหล่านี้จะปรากฏอยู่ตลอดทั้งความยาวของเหล็ก
นอกจากนี้ สามารถตรวจสอบน้ำหนักของเหล็กได้ด้วยการชั่ง โดยตัดเหล็กมา 1 เมตร แล้วเทียบน้ำหนักกับมาตรฐานที่กำหนดไว้ ตัวอย่างเช่น เหล็กเส้นกลมหน้าตัด 6 มิลลิเมตร (RB6) ความยาว 1 เมตร ควรมีน้ำหนักประมาณ 0.222 กิโลกรัม, เหล็กข้ออ้อยหน้าตัด 12 มิลลิเมตร (DB12) ความยาว 1 เมตร ควรมีน้ำหนักประมาณ 0.888 กิโลกรัม, เหล็กตัวซี (Light Lip Channel) 100x50x20x2.3 มม. ความยาว 1 เมตร ควรมีน้ำหนักประมาณ 4.06 กิโลกรัม เป็นต้น