ส่วนอุตสาหกรรม 2 สำนักนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 1
1. สถานการณ์ปัจจุบัน
การผลิต
ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 มีประมาณ 1,692,032 เมตริกตัน (ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบ และท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ) ลดลง ร้อยละ 5.42 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 9.65 เนื่องจากปริมาณสินค้าคงคลังตั้งแต่ช่วงต้นปี ยังอยู่ในปริมาณที่สูง ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้ คือ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.13 รองลงมาคือ เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.50 โดยเหล็กแผ่นเคลือบ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.51 (เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.91 เนื่องจากเหตุผลทางด้านเทคนิค คือ เมื่อช่วงเดียวกันของปีก่อน ผู้ผลิตหลักได้หยุดการผลิตบางส่วนเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักร จึงทำให้ฐานในการคำนวณต่ำ) เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.88 และเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า การผลิตโดยรวม ลดลง ร้อยละ 22.24 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดคือ เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 30.21 รายละเอียดตามตารางที่ 1
ความต้องการใช้ในประเทศ
ความต้องการใช้เหล็กในประเทศช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2560 มีจำนวนประมาณ 4,109,860 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 5.3เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการใช้ลดลงมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 22.5 โดยเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 23.2 รองลงมาคือ เหล็กลวด ลดลง ร้อยละ 18.9 เนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างยังคงทรงตัว ทั้งในส่วนโครงการภาครัฐและภาคเอกชน ขณะที่ผลิตภัณฑ์เหล็กในกลุ่มเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.3 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.5
การนำเข้า- การส่งออก
การนำเข้า
มูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 มีจำนวนประมาณ 1,768.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการนำเข้า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.22 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ประเทศนำเข้าที่สำคัญได้แก่ รัสเซีย ญี่ปุ่น จีน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ ท่อเหล็ก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 48.12 โดยท่อเชื่อมตะเข็บ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 124.55 เนื่องจาก ราคาในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นจึงส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น รองลงมาคือผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.22 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนสำหรับเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.99 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.65 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.78 สำหรับเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 2.49 โดยเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 27.52 เหล็กเส้น ลดลง ร้อยละ 8.48 ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าการนำเข้า ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 2.61 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้า ลดลง คือ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 24.42 ขณะที่ เหล็กทรงแบน ท่อเหล็ก และเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.42, 2.42, 0.29 ตามลำดับ รายละเอียดตามตารางที่2
การส่งออก
มูลค่าการส่งออกเหล็ก และเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2560 มีจำนวนประมาณ 296.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 76.47 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ประเทศส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น อังกฤษ และกลุ่มประเทศในอาเซียน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้น มากที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น ร้อยละ 611.77 โดยในไตรมาสนี้ ไม่มีการส่งออกเหล็กแท่งยาว (Billet) และเหล็กแท่งแบน (Slab) ขณะที่ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 614.97 สำหรับท่อเหล็ก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 168.51 โดยท่อเชื่อมตะเข็บ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 227.97 ท่อไร้ตะเข็บ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 81.59 สำหรับเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 51.13 โดยเหล็กแผ่นเคลือบ เพิ่มขึ้น ร้อนละ 205.30 ขณะที่เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 42.58 สำหรับเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.11 โดยเหล็กลวด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 80.84 และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.62 ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า มูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.95 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ท่อเหล็ก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 72.55 โดยท่อเชื่อมตะเข็บ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 80.94 รองลงมาคือ ท่อไร้ตะเข็บ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 53.72 สำหรับเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น 30.95 โดยเหล็กลวด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 60.75 เหล็กเส้น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 53.49 สำหรับเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.29 โดยเหล็กแผ่นเคลือบ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 86.36 เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 57.41รายละเอียดตามตารางที่ 3
2. สรุป
การบริโภคเหล็กของไทยไตรมาส 1 ปี 2560 มีปริมาณ 4,109,860 ตัน ลดลง ร้อยละ 4.00เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตมีปริมาณ 1,692,032 ตัน ลดลง ร้อยละ 5.42 โดยเป็นการผลิตที่ลดลงของเหล็กทรงยาว ที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง การส่งออกมีมูลค่า 296.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 76.47 สำหรับการนำเข้า 1,768.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.22 เนื่องจากภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศยังคงทรงตัว โดยในส่วนของอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กที่สำคัญ เช่น
อุตสาหกรรมก่อสร้าง ในส่วนของโครงการของภาคเอกชนพบว่าการก่อสร้างคอนโดมิเนียมยังคงชะลอตัวโดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้าชานเมืองยังมีอุปทานเหลือขายจำนวนมาก เนื่องมาจากระดับรายได้ของลูกค้าใหม่ยังไม่สูงพอ ความเข็มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารและอัตราการปฏิเสธสินเชื่อยังคงมีแนวโน้มที่สูง ประกอบกับปริมาณสินค้าคงคลังยังอยู่ในระดับที่สูงส่งผลให้การผลิตลดลง สำหรับโครงการก่อสร้างของภาครัฐที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะเร่งผลักดันให้เกิดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูง พบว่าปัจจุบันยังไม่อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง มีเพียงโครงการก่อสร้างและซ่อมแซมถนน จึงส่งผลให้สถานการณ์อุตสาหกรรมก่อสร้างในส่วนของภาครัฐยังคงทรงตัวอยู่
อุตสาหกรรมยานยนต์ ถึงแม้ยอดขายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น แต่การผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์กลับลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้การใช้เหล็กในประเทศสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ลดลงด้วย
3.แนวโน้ม
สถานการณ์การบริโภคเหล็กในไตรมาส 2 ปี 2560 คาดการณ์ว่าจะลดลง ร้อยละ 15.58 โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาเหล็กในตลาดโลกและราคาในประเทศเริ่มมีทิศทางที่ลดลง ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศยังคงทรงตัวอยู่ จากอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ยังคงทรงตัวอยู่ทั้งทางด้านโครงการภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบกับปริมาณสินค้าคงคลังยังคงมีอยู่ ส่งผลให้ความต้องการใช้ในประเทศลดลง
Cr: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม