สศอ.แนะอุตสาหกรรมเหล็กต้องปรับตัวรับ AEC ที่จะมาถึง

สศอ.แนะอุตสาหกรรมเหล็กต้องปรับตัวรับ AEC ที่จะมาถึง

สศอ.แนะอุตสาหกรรมเหล็กต้องปรับตัวรับ AEC ที่จะมาถึง เสนอรัฐผ่อนปรนเงื่อนไขและกฎเกณฑ์เอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.อยู่ระหว่างศึกษาศักยภาพและโอกาส ของอุตสาหกรรมเหล็กประเทศไทย เพื่อติดตามผลกระทบและแนวทางการปรับตัวของอุตสาหกรรมเหล็ก สำหรับให้เอกชนในอุตสาหกรรมเหล็กใช้เป็นข้อมูลศึกษารูปแบบการลงทุนและการทำธุรกิจ รองรับประชาคมอาเซียน (เออีซี) โดยแบ่งผลิตภัณฑ์เหล็กเป็น 4 ประเภท คือ

• ผลิตภัณฑ์เหล็กที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตสูงและมีการส่งออกไปยังตลาด อาเซียน

• ผลิตภัณฑ์เหล็กที่ไทยมีปัญหาความสามารถการแข่งขันด้านต้นทุนการผลิตหรือ คุณภาพการผลิต ทำให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มากขึ้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศคู่เจรจา ที่สำคัญของอาเซียน โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ที่ปัจจุบัน
ประสบปัญหากำลังการผลิตส่วนเกิน

• ผลิตภัณฑ์เหล็กในขั้นปลายน้ำ ที่ไทยยังไม่สามารถผลิตได้ด้วย ข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยีการผลิต ที่ปัจจุบันยังไม่มีในไทย ทำให้ต้องนำเข้าจากประเทศคู่เจรจาที่สำคัญของอาเซียน โดยเฉพาะญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมีแนวโน้มที่จะนำเข้าเพิ่มจากจีน และอินเดียในอนาคต

• ผลิตภัณฑ์เหล็ก ที่ปัจจุบันผลิตได้ในชั้นคุณภาพทั่วไปในปริมาณจำกัด หรือยังไม่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ เนื่องจากข้อจำกัดของการขาดวัตถุดิบ ทำให้ต้องมีการนำเข้า
นายสมชาย กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ผลกระทบ ที่จะเกิดต่ออุตสาหกรรมเหล็กไทย จากการเปิดเออีซี ทำให้สามารถสรุปแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการเหล็กได้อาทิ ภาครัฐ จะต้องอำนวยความสะดวก ให้ผู้ผลิตสินค้าที่ไทยมีศักยภาพการผลิต เช่น เหล็กเส้นก่อสร้าง, เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน
สำหรับใช้งานโดยตรง, เหล็กแผ่นรีดเย็นชนิดเหล็กกล้าคาร์บอนไม่ผ่านการอบอ่อน สามารถส่งออกสินค้าและใช้สิทธิประโยชน์ จากข้อตกลงทางการค้าเสรีอย่างไม่มีอุปสรรคด้วยมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีได้ ขณะเดียวกันต้องเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการเพื่อสร้างเครือข่ายทางการค้า และการกระจายสินค้า ตลอดจนผลักดันการร่วมทุนทางธุรกิจ เพื่อทำให้อุตสาหกรรมเหล็กสามารถขยายตลาดการค้าผลิตภัณฑ์เหล็กได้มากยิ่งขึ้นในอาเซียน

        นอกจากนี้ภาครัฐต้องอนุญาตให้มีการนำเข้าและลดอุปสรรค รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กเกรดสูงปลายน้ำที่ไทยยังไม่สามารถผลิตได้จากประเทศคู่เจรจา หรือประเทศในอาเซียน และผลักดันให้เกิดการลงทุนในประเทศ ตลอดจนสร้างเครือข่ายการผลิตระหว่างกันในอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นในประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นข้อจำกัดของไทย เนื่องจากติดปัญหาการยอมรับของชุมชนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการสร้างเครือข่ายการจัดหาวัตถุดิบ และสร้างกลไกในการพัฒนาร่วมกัน ระหว่างอุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง