ปี 2566 เหตุการณ์สะเทือนวงการอุตสาหกรรมเหล็กจากผู้ประกอบการต้องปิดกิจการลง ด้วยวิกฤตการณ์เหล็กจีนทุ่มตลาด เป็นบทสะท้อนถึงความท้าทายของอุตสาหกรรมเหล็กที่ต้องสร้างทางรอดให้ธุรกิจ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL ถึงแผนการดำเนินงานปี 2567 และการรับมือความท้าทายใหม่

โอกาส-ความท้าทาย

ในปี 2567 การแข่งขันยังคงสูง การผลิต ยอดขายของรถยนต์เหลือ 1.8 ล้านคัน รถญี่ปุ่นโดนค่ายจีนเข้ามาแย่งตลาดทำรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และตลอดปี 2566 อุตสาหกรรมก่อสร้างยังไม่เห็นโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ ซึ่งปี 2567 เป็นภาวะเงินฝืด ตัวที่จะช่วยได้คือเร่งเรื่องงบประมาณเบิกจ่ายภาครัฐ ที่จะมาดันโปรเจ็กต์เก่าและเริ่มโปรเจ็กต์ใหม่

“เราเองปี 2567 ยังคงเป็นปีที่ท้าทายมาก ๆ 2-3 ปีที่ผ่านมา เราลดต้นทุนต่อสู้เพื่อออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ผ่านทางบริษัท โคเบลโก้ มิลล์คอน สตีล จำกัด (KMS) บริษัทลูกของมิลล์คอน โดยที่เราซัพพลายบิลเลตหรือเหล็กแท่งให้เพื่อลดการนำเข้า”

อีกด้านก็เป็นเรื่องของการจะไปสู่ Net Zero ตอนนี้ญี่ปุ่นจะทยอยปรับเรื่องเทคโนโลยีเตาหลอม ด้วยเตาอิเล็กทริกอาร์กเฟอร์เนซ (Electric Arc Furnace : EAF) ที่ใช้สำหรับผลิตเหล็กคุณภาพสูง และเพื่อคุมเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเตาที่มิลล์คอนใช้อยู่แล้ว ทำให้สัดส่วนเหล็กเกรดพิเศษมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 70-80% และมีผลิตภัณฑ์ที่เป็น Ordinary เหลือประมาณ 20% เท่านั้น อย่างพวกตะปู ตะแกรงเหล็กต่าง ๆ

รายได้ปี 2566 น่าจะเท่ากับปีที่แล้ว ประมาณ 17,000-18,000 ล้านบาท ส่วนปี 2567 เรื่องจำนวน (Volume)อาจจะไม่โตแต่จะโตเรื่องมูลค่า (Value) เพราะเหล็กธรรมดาราคา 19 บาท/กก. แต่ถ้าเป็นเกรดพิเศษราคาจะสูงถึง 20 กว่าบาทไปถึง 30-40 บาท

ถ้ามองภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กปี 2566 มีผลจากอุตสาหกรรมก่อสร้างการลงทุนดีเลย์ โปรเจ็กต์เกิดขึ้นน้อยมากมีแค่เมกะโปรเจ็กต์ของเอกชนจึงทำให้ดีมานด์ไม่พอกับซัพพลาย เป็นที่มาว่าเราต้องเข้าไปคุยกับภาครัฐ

ส่วนที่ยังกังวลปีหน้า คือ เรื่องต้นทุนพลังงาน เราก็หวังอยากให้รัฐช่วยเรื่องมาตรการทางภาษี VAT เศษเหล็ก ตอนนี้เห็นว่าสรรพากรกำลังพิจารณาให้อยู่

 ซอฟต์แวร์คุมฝุ่น

อุตสาหกรรมผลิตเหล็ก ถูกควบคุมเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก ล่าสุดกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) อยู่ระหว่างทดลองตัวซอฟต์แวร์คุมฝุ่นแทนการติดตั้งระบบการตรวจวัดอากาศจากปล่องระบาย (CEMS) ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) บังคับให้ทุกโรงงานต้องติดตั้งภายในกลางปี 2567

“ซอฟต์แวร์นี้จะทำหน้าที่เก็บข้อมูล วิเคราะห์ และส่งรายงานไปยัง กรอ. ราคาตัวละกว่า 3 ล้านบาท โรงงานไหนมีหลายปล่องก็หนักเลย เพราะเป็นต้นทุน ตอนนี้ กรอ.เขาขยายเวลาให้ประมาณ 6 เดือน ถ้าทดลองตัวซอฟต์แวร์ใหม่นี้ได้ โรงงานก็ใช้ซอฟต์แวร์ตัวนี้ได้เลย หรือถ้าต้องติด CEMS จริง ๆ เราก็เสนอขอให้ช่วยหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากแบงก์รัฐหรือดึงกองทุนมาเสริมอีกทาง”

โรงไฟฟ้าขยะ ธุรกิจใหม่

แผนการลงทุนในต่างประเทศ อย่างในเมียนมา เราลงทุนโรงเหล็กที่เขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา มา 7-8 ปี เพื่อผลิตเหล็กท่อขายในประเทศ แต่ละเดือนก็มีกำลังการผลิต 2,000 ตัน การค้าขายไปได้ แม้มีปัญหาเรื่องการเมืองภายใน ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างมีข้อจำกัดจึงยังไม่มีแผนขยายการลงทุนเพิ่ม

ส่วนการลงทุนในประเทศ เรามีบริษัท เวสท์เทค เอ็กโพเนนเชียล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มมิลล์คอน จับมือกับทางกัลฟ์ลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) และรับรู้รายได้ในปี 2568

ซึ่งตอนนี้เราถือหุ้นอยู่ 60% และเตรียมตัวจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากนั้นจะทยอยเฟดตัวจากการถือหุ้น เพราะเวสท์เทคฯจะมีพาร์ตเนอร์รายใหม่เข้ามาจอยต์ การที่เราโดดจากเหล็กไปเรื่องโรงไฟฟ้า เป็นธุรกิจที่ต่อเนื่องกัน อย่างพวกซากรถยนต์ไม่ได้มีแค่เศษเหล็ก แต่ยังมีทองเหลือง ทองแดง ยาง พรม พลาสติก นับวันยิ่งมีมูลค่า

 

สำหรับปี 2567 ที่บอกชะลอการลงทุนไว้ก่อน เพราะที่ผ่านมาเราก็พัฒนาตัวเองไปหลายอย่าง แต่เราไม่ได้หยุดลงทุนพัฒนาตัวเอง จากนี้ต้องพยายามทำให้อุตสาหกรรมเราแข็งแกร่งก่อน ต้องใช้ความเก่ง คนในอุตสาหกรรมต้องมองไปในทิศทางเดียวกัน

แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ