อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของประเทศไทยในปัจจุบัน ยังไม่มีการผลิตในขั้นต้นหรือการถลุงแร่เหล็ก โดยอุตสาหกรรมต้นน้ำเป็นเพียงการผลิตขั้นกลางหรือการผลิตเหล็กกล้าซึ่งใช้เตาอาร์คไฟฟ้า (Electric Arc Furnace: EAF) เป็นหลัก ดังนั้นการผลิตเหล็กของไทยในปัจจุบันจึงจำกัดอยู่ในเฉพาะการผลิตขั้นกลางและขั้นปลายเท่านั้น และผลิตภัณฑ์ที่สามารถผลิตได้คือ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป (Semi-Finished Products) และผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูป (Finished Products) สำหรับศักยภาพการผลิตของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้ามีรายละเอียด ดังนี้
1. อุตสาหกรรมเหล็กทรงยาว
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการผลิตเหล็กทรงยาวจำนวนทั้งสิ้น 66 ราย สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ เหล็กเส้น เหล็กลวด และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ โดยมีกำลังการผลิตรวม 11.3 ล้านตันต่อปี โดยรายละเอียดของผู้ประกอบการในแต่กลุ่ม มีดังนี้
(1) ผู้ประกอบการเหล็กเส้น
บริษัทผู้ผลิตเหล็กเส้นในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 55 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตที่มีเตาหลอมไฟฟ้าจำนวน 12 ราย และกลุ่มผู้ผลิตที่ไม่มีเตาหลอมจำนวน 43 ราย โดยมีกำลังการผลิตรวม 3.4 และ 4.1 ล้านตันต่อปีตามลำดับ บริษัทผู้ผลิตเหล็กเส้นในประเทศรายใหญ่ที่สุด ได้แก่ บริษัท กรุงเทพผลิตเหล็ก จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บางสะพานบาร์มิลล์ จำกัด ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงถึง 950,000 และ 720,000 ตันต่อปีตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กเส้นที่ผลิตได้ประกอบด้วยเหล็กเส้นกลมและเหล็กข้ออ้อย เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างภายในประเทศ และมีผู้ผลิตบางรายที่ส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศใกล้เคียง เช่น ลาว กัมพูชา พม่า เป็นต้น
(2) ผู้ประกอบการเหล็กลวด
ผู้ผลิตลวดในประเทศมีจำนวน 10 ราย แบ่งเป็นผู้ผลิตที่มีเตาหลอมจำนวน 5 ราย มีกำลังการผลิตรวม 1.0 ล้านตันต่อปี และผู้ผลิตที่ไม่มีเตาหลอมจำนวน 5 ราย มีกำลังการผลิตรวม 1.3 ล้านตันต่อปี อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กลวดในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นการผลิตลวดเหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างทั่วไป และเหล็กลวดคาร์บอนต่ำที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตตะแกรงเหล็ก สำหรับการผลิตเหล็กลวดคาร์บอนสูงและเหล็กลวดคาร์บอนปานกลางที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตลวดทนแรงดึงสูง สปริง ตะปู น็อต เป็นการผลิตโดยกลุ่มผู้ผลิตที่ไม่มีเตาหลอมซึ่งจะนำเข้าเหล็กแท่งเล็ก (Billet) คาร์บอนสูง และคาร์บอนปานกลางจากต่างประเทศมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต
(3) ผู้ประกอบการเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ
อุตสาหกรรมเหล็กโครงสร้างรูปพรรณที่มีการผลิตในประเทศไทย ได้แก่ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนที่ใช้ตอบสนองความต้องการในประเทศเป็นหลักตามมาตรฐานและชั้นคุณภาพที่กำหนด เช่น เหล็กฉาก เหล็กรูปรางน้ำ เหล็ก H-Beam เหล็ก I-Beam เหล็กเข็มพืด เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะใช้ในงานอุตสาหกรรมก่อสร้างขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น สะพาน ทางด่วน โครงสร้างอาคาร นอกจากการผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมในประเทศแล้ว ผู้ผลิตบางรายยังสามารถพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันเพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศ โดยปรับปรุงคุณภาพสินค้าให้ตรงตามมาตรฐานที่ลูกค้ากำหนดอีกด้วย ปัจจุบันกลุ่มผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณมีจำนวนทั้งสิ้น 8 ราย แบ่งเป็นผู้ผลิตที่มีเตาหลอมไฟฟ้าจำนวน 3 ราย มีกำลังการผลิตรวม 1.5 ล้านตันต่อปี และผู้ผลิตที่ไม่มีเตาหลอมจำนวน 5 ราย มีกำลังผลิตรวม 575,000 ตันต่อปี สำหรับบริษัทผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรายใหญ่ที่สุดได้แก่ บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงถึง 600,000 ตันต่อปี
2. อุตสาหกรรมเหล็กทรงแบน
กลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กทรงแบนในประเทศไทยมีจำนวน 17 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 11.2 ล้านตันต่อปี สำหรับผลิตภัณฑ์ที่สามารถผลิตได้ประกอบด้วย เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิม และเหล็กแผ่นเคลือบ โดยมีรายละเอียดของผู้ผลิตแบ่งตามประเภทผลิตภัณฑ์ดังนี้
(1) เหล็กแผ่นรีดร้อน
ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศมีจำนวน 5 ราย แบ่งเป็นผู้ผลิตที่มีเตาหลอมจำนวน 2 ราย มีกำลังการผลิตรวม 3.0 ล้านตันต่อปี และผู้ผลิตที่ไม่มีเตาหลอมจำนวน 3 ราย มีกำลังการผลิตรวม 4.1 ล้านตันต่อปี โดยบริษัทที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุดได้แก่ บริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ซึ่งสามารถผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนได้ปริมาณ 2.4 ล้านตันต่อปี สำหรับผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มผู้ประกอบการเหล็กแผ่นรีดร้อนผลิตสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน (Hot Rolled Coils) ซึ่งส่วนใหญ่มีความหนา 1.0-12.0 มิลลิเมตร ใช้เป็นวัตถุดิบของท่อเหล็ก เหล็กโครงสร้างรูปพรรณขึ้นรูปเย็น เหล็กแผ่นรีดเย็น ชิ้นส่วนยานยนต์ ถังแก๊ส และอีกประเภทคือเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดแผ่นหนา (Hot Rolled Plates) ซึ่งส่วนใหญ่มีความหนา 4.5-100.0 มิลลิเมตร ใช้เป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมก่อสร้างขนาดใหญ่ ท่อน้ำขนาดใหญ่ ท่อน้ำมัน ถังเก็บน้ำมัน ถังอัดความดัน หม้อไอน้ำอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมต่อเรือ เป็นต้น
(2) เหล็กแผ่นรีดเย็น
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นรีดเย็นในประเทศไทยมีจำนวน 3 ราย กำลังการผลิตรวม 2.6 ล้านตันต่อปี โดยใช้วัตถุดิบหลักคือเหล็กแผ่นรีดร้อนที่ผลิตในประเทศและการนำเข้าจากต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์ที่สามารถผลิตได้แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ เหล็กแผ่นรีดเย็นสำหรับการใช้งานที่ไม่ต้องการคุณสมบัติในการขึ้นรูป (Cold-Rolled Steel Sheet for Galvanized Iron Substrate: GIS) เหล็กแผ่นรีดเย็นสำหรับการใช้ในงานทั่วไปที่ต้องการคุณสมบัติในการขึ้นรูป (Cold-Rolled Steel Sheet for General Use: CRS) และเหล็กแผ่นรีดเย็นชนิด TMBP (Cold-Rolled Steel Sheet for Tinplate and Tin Free Steel: Tin Mill Black Plate) โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น GIS ส่วนใหญ่จะใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีสำหรับทำหลังคา และเหล็กแผ่นรีดเย็น CRS จะใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ สำหรับเหล็กแผ่นรีดเย็นชนิด TMBP ใช้เป็นวัตถุดิบของเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียมและเหล็กแผ่นเคลือบดีบุกสำหรับผลิตกระป๋อง
(3) เหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิม
ผู้ประกอบการเหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิมในประเทศไทยมีเพียงรายเดียวได้แก่ บริษัท ไทยน็อคซ์สตีล จำกัด มีกำลังการผลิต 200,000 ตันต่อปี โดยวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตได้แก่ เหล็กแผ่นไร้สนิมรีดร้อน ซึ่งต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งหมด สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ประมาณร้อยละ 40 จะใช้เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ การขนส่ง ภาชนะบรรจุภัณฑ์ เครื่องครัว อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล และอุตสาหกรรม การก่อสร้าง ส่วนผลผลิตที่เหลือจะส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ
(4) เหล็กแผ่นเคลือบ
ปัจจุบันผู้ประกอบการเหล็กแผ่นเคลือบในประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 9 ราย มีกำลังการผลิตรวม 1.3 ล้านตันต่อปี โดยสามารถแบ่งตามประเภทของผลิตภัณฑ์เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
– กลุ่มเหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและโครเมียม มีผู้ผลิตจำนวน 2 ราย โดยวัตถุดิบที่ใช้ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดเย็นชนิด TMBP แบบ Single cold-reduced และ Double cold-reduced สำหรับการใช้งานเหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและโครเมียมส่วนมากจะใช้ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ เช่น กระป๋องบรรจุผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์นมผง และ ปลากระป๋อง เป็นต้น
– กลุ่มเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี มีผู้ผลิตจำนวน 7 ราย โดยใช้เหล็กแผ่นรีดเย็นเป็นวัตถุดิบและมีกรรมวิธีการผลิตทั้งแบบจุ่มร้อนและแบบใช้ไฟฟ้า สำหรับเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีจะใช้งานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง (เช่น หลังคา รั้ว ท่อน้ำ รางน้ำ เป็นต้น) อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์
– กลุ่มเหล็กแผ่นเคลือบโลหะผสมระหว่างสังกะสีและอะลูมิเนียม มีผู้ผลิตเพียงรายเดียวคือ บริษัท บลูสโคป สตีล (ประเทศไทย) จำกัด โดยใช้เหล็กแผ่นรีดเย็นเป็นวัตถุดิบในการผลิต เหล็กแผ่นเคลือบชนิดนี้ใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น
– กลุ่มเหล็กแผ่นเคลือบสี มีผู้ผลิตจำนวน 4 ราย โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และงานทั่วไป เช่น ป้ายจราจร เป็นต้น สำหรับวัตถุดิบที่ใช้มีทั้งเหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และเหล็กแผ่นเคลือบโลหะผสมระหว่างสังกะสีกับอะลูมิเนียม
ในปี 2551 ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กทั้งหมด 10.13 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 207,700 ล้านบาท โดยการผลิตเหล็กที่มีปริมาณมากที่สุดได้แก่ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว เช่น เหล็กเส้น เหล็กลวด สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง รองลงมาได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น และเหล็กแผ่นเคลือบ ตามลำดับ
Cr. อุตสาหกรรมโลหการของประเทศไทย