อุตสาหกรรมเหล็กไทย เข้าขั้นวิกฤต จับตาปิดตัวระนาว

อุตสาหกรรมเหล็กไทย เข้าขั้นวิกฤต จับตาปิดตัวระนาว

อุตสาหกรรมเหล็กไทย เข้าขั้นวิกฤต จับตาปิดตัวระนาว บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3946

ผลกระทบจากการฟื้นตัวที่ยังไม่ชัดเจนของเศรษฐกิจโลก อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่สูงในประเทศส่วนใหญ่ ล้วนเป็นข้อจำกัดการฟื้นตัวของอุปสงค์เหล็กโลก โดยสมาคมเหล็กโลก (World Steel Association) คาดการณ์ว่า ปี 2556 ความต้องการใช้จะฟื้นตัวเพียง 2.3% เป็น 1,822.3 ล้านตัน  

แม้ว่า จะมีปัจจัยบวกจากการปรับตัวของยุโรป ที่แก้ปัญหาขาดแคลนพลังงาน และการผ่อนคลายปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งการเติบโตของอุปสงค์จากแรงหนุนของภูมิภาคต่างๆ ยกเว้นจีน ซึ่งความต้องการใช้เหล็กในประเทศยังทรงตัว 

ขณะที่สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในส่วนของผู้ผลิตเหล็กในประเทศช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่สู้ดีนักจากการที่มีเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาขายในราคาตํ่า กระทบผู้ประกอบการในประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันลดลง ล่าสุดบริษัท โรงงานเหล็กกรุงเทพฯ จำกัด ต้องประกาศเลิกจ้างพนักงาน หลังขาดทุนสะสมมาอย่างต่อเนื่อง  

 

การเลิกจ้างคนงานของ บริษัท โรงงานเหล็กกรุงเทพ จากปัญหาภาวะขาดทุนสะสมนั้น อาจจะเรียกว่า เป็นการปิดตำนานโรงเหล็กทรงยาวในประเทศไทย โดยโรงเหล็กกรุงเทพเป็นโรงงานสุดท้ายที่มีไลน์การผลิตมายาวนานถึง 59 ปี  

ทั้งนี้ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 มีธุรกิจเหล็กปิดตัวไปแล้ว 75 ราย หรือ ลดลง 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ปิดตัวไปถึง 117 ราย ส่วนทุนจดทะเบียนธุรกิจที่เลิกกิจการ คิดเป็นมูลค่า 393.06 ล้านบาท โดยมีข้อน่าสังเกตว่า ธุรกิจเหล็กที่ปิดตัวลงไปส่วนใหญ่จะเป็นผู้ผลิตรายกลางและรายเล็ก  

ปัจจุบันประเทศไทยมีธุรกิจเกี่ยวกับเหล็กที่ยังคงอยู่ 4,855 ราย แต่วงการเหล็ก มีการวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กว่า กำลังจะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในปี 2567 จากการขยายกำลังการผลิตของผู้ผลิตเหล็กสัญชาติจีน ที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย 

 

หลังจากที่รัฐบาลไทยอนุญาตให้โรงงานเหล็กจากจีน เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในประเทศ โดยใช้เตาหลอมแบบ IF หรือ induction furnace ซึ่งเป็นเตาประเภทที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและในประเทศจีนไม่อนุญาตให้ใช้เตาหลอมแบบนี้แล้ว 

ขณะที่โรงงานเหล็กที่เลิกดำเนินกิจการไป จะใช้เตาหลอมแบบ EAF หรือ electric arc furnace สำหรับรีดเป็นเหล็กเส้นและเหล็กลวด ซึ่งมีต้นทุนที่สูงกว่า   

นอกจากนั้น ความต้องการใช้เหล็กในจีนที่ทรงตัว แต่โรงงานเหล็กได้เพิ่มปริมาณการผลิตเหล็กอย่างมากเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี จึงมีการส่งออกสินค้าเหล็กทุ่มตลาดจำนวนมาก จากจีนไปยังภูมิภาคต่างๆ รวมถึงอาเซียนและไทยด้วย

แม้รัฐบาลจะใช้มาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด แต่ก็ยังไม่สามารถสกัดได้มากนัก จึงต้องศึกษาเชิงลึก เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดในระยะยาวได้ 

แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ