เชื่อมเต็มกับเชื่อมแต้ม

เชื่อมเต็ม คือ ลักษณะการเชื่อมเหล็กแบบหนึ่งในการก่อสร้างที่ใช้โครงสร้างเหล็ก หรือ คอนกรีตเสริมเหล็ก   โดยหลังจากที่วัดระยะ กำหนดตำแหน่ง หรือเชื่อมแต้ม แบบชั่วคราวกำหนดรูปแบบคร่าวๆเอาไว้แล้ว   จึงทำการเชื่อมเต็มด้วยลวดเชื่อมที่ต่อเข้ากับเครื่องเชื่อมไฟฟ้าจี้ไปที่รอยต่อระหว่างเหล็กเพื่อให้เหล็กทั้งสองชิ้นติดกันแน่นถาวร รวมถึงยังมีการเชื่อมแบบใช้ความร้อนสูงที่จะทำให้เหล็กทั้งสองชิ้นหลอมเป็นเนื้อเดียวกัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความแข็งแรงให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย  ตัวอย่างเช่น  การทำศาลาด้วยโครงสร้างเหล็ก จะใช้เหล็กกล่องสำหรับทำเป็นโครงสร้างเสา  อเส   จันทัน  และแป  โดยจะมีการขึ้นโครงคร่าวๆ ด้วยการเชื่อมแต้มเพื่อกำหนดระยะ ความสูง และรูปทรงเอาไว้ก่อน  จากนั้นจึงปรับแก้แล้วเชื่อมเต็มจนเหล็กยึดติดกันแน่นกันเป็นศาลาในขั้นตอนสุดท้าย  หรือการเชื่อมต่อชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูปอย่างแผ่นพื้นสำเร็จรูป แผ่นผนังสำเร็จรูป คานสำเร็จรูป  ก็จะใช้วิธีการเชื่อมเต็มที่แผ่นเหล็กที่ถูกฝังไว้ภายในของชิ้นส่วนเพื่อเชื่อมต่อส่วนต่างๆเข้าด้วยกัน ก่อนจะฉาบปูนปิดทับในภายหลังเพื่อความสวยงาม เป็นต้น

ภาพ: การเชื่อมเต็มโครงสร้างหลังคาเหล็ก

ภาพ: การเชื่อมเต็มโครงสร้างหลังคาเหล็ก

   เชื่อมแต้ม คือ ลักษณะการเชื่อมเหล็กแบบหนึ่งโดยจะเชื่อมเป็นจุดขนาดเล็ก  เป็นการเชื่อมแบบชั่วคราวสำหรับป้องกันเหล็กขยับออกจากจุดที่ต้องการกำหนดตำแหน่งหรือระยะเอาไว้ก่อนจะเชื่อมเต็มอีกครั้ง   หากมีข้อผิดพลาดหรือต้องการปรับแก้แบบ ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้ค้อนตีไปที่เหล็ก 4-5 ครั้ง บริเวณที่เชื่อมแต้มไว้ก็จะหลุดออกมาได้โดยง่าย   ตัวอย่างเช่น  การเชื่อมแต้มเหล็กเส้นสำหรับทำตะแกรงเหล็ก (Wire Mesh)ในงานโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก  เพื่อให้เหล็กอยู่ในตำแหน่งและระยะตามที่ต้องการ  ก่อนจะเชื่อมเต็มแล้วนำไปวางในแบบหล่อคอนกรีต ต่อไป   หรือการเชื่อมโครงสร้างหลังคาเหล็กทั้ง อเส   จันทัน  และแป  ช่างจะประกอบไปทีละส่วนด้วยการเชื่อมแต้ม  เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบระยะและดูรูปทรงของโครงหลังคาให้ถูกต้องตามแบบ   ก่อนจะเชื่อมเต็มเพื่อความแข็งแรงในขั้นตอนสุดท้ายอีกครั้ง

ภาพ: ช่างกำลังเชื่อมแต้ม

ภาพ: การเชื่อมแต้มเหล็กยืนและเหล็กปลอก

ภาพ: การเชื่อมแต้มเพื่อช่วยยึดเหล็กไว้ชั่วคราว

Cr: cgbuildingmaterials.com