“เหล็กนอก” ยึดตลาดไทย 60% บริโภคหด-ราคาลด ควบรวมกิจการหนึ่งทางรอด

     นายวิโรจน์ กล่าวว่า การบริโภคเหล็กของไทยในปี 2565 และ 2566 ค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในและการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กไทยลดลงทุกผลิตภัณฑ์ โดยในปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 32% เมื่อเทียบกับ 36% ในปี 2565 เปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ โรงงานเดินเครื่องผลิตเฉลี่ยเพียงวันละกะเดียวคือ 8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ลดตํ่าลงเมื่อเทียบกับปีก่อนเกิดโควิด ที่โรงงานเหล็กไทยยังใช้อัตราการผลิตเฉลี่ยอยู่ถึง 42% แต่ปัจจุบันหลือเพียง 32% โดยเฉลี่ย แต่สำหรับเหล็กบางประเภทลดตํ่าลงกว่าค่าเฉลี่ย อาทิ เหล็กแผ่นรีดร้อนลดลงจาก 30% เหลือเพียง 21% และโรงงานเหล็กลวดลดลงจาก 44% เหลือ 28%

“อัตราการใช้กำลังผลิตที่ลดลงเป็นผลจาก 2-3 ปัจจัย ได้แก่ การนำเข้าที่เพิ่มขึ้น และกำลังการผลิตที่เกินความต้องการ บวกกับในปีนี้ประเทศจีนมีปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ ทำให้การบริโภคเหล็กของจีนลดลง โรงงานจีนจึงส่งออกมากขึ้นมายังกลุ่มอาเซียน สำหรับประเทศไทยใน 9 เดือนของปีนี้ การบริโภคเหล็กของไทยลดลง 1% ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 3.7% ทำให้เราผลิตลดลง 8.2%”

     ผู้บริโภคเหล็กในประเทศหด – ราคาลด

      สำหรับมูลค่าอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศของไทยเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ไทยบริโภคเหล็กคิดเป็นมูลค่าประมาณปีละ 500,000 ล้านบาท แต่ในช่วงหลังเกิดโควิดการบริโภคลดลง ซึ่งหากเปรียบเทียบช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2566 ไทยบริโภคเหล็ก 12.55 ล้านตัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 12.67 ล้านตัน ถือว่าลดลง 1% อย่างไรก็ดีระดับราคาโดยเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์เหล็กที่ผู้ประกอบการไทยขายได้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ลดลง 10-20% เช่น ราคาเศษเหล็กลดลง 19.6%, เหล็กเส้นกลมลดลง 12.8%, เหล็กเส้นข้ออ้อยลดลง 12.5%, เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง 18.3% และเหล็กแผ่นรีดเย็นราคาลดลง 17.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจลดลงในสัดส่วนเดียวกัน

“เหล็กนอก” ยึดตลาดไทย 60% บริโภคหด-ราคาลด ควบรวมกิจการหนึ่งทางรอด      เหล็กนอกยึดตลาด 60%

      ขณะที่เหล็กนำเข้ามีส่วนแบ่งตลาดในประเทศอยู่ 60% และเหล็กผลิตในประเทศมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 40% เนื่องจากเหล็กนำเข้ามีราคาถูกกว่า โดยในระยะหลัง ๆ มานี้ในกลุ่มประเทศอาเซียน ประสบปัญหาการทุ่มตลาดของสินค้าจากประเทศจีน ซึ่งมีกำลังการผลิตมากเกินความต้องการ โดยเหล็กนำเข้า (สะสม 9 เดือน) ปี 2566 อยู่ในกลุ่มของเหล็กแผ่นรีดร้อน 2.86 ล้านตัน รองลงมาเป็นกลุ่มเหล็กแผ่นเคลือบชนิดต่าง ๆ 2.34 ล้านตัน กลุ่มเหล็กรีดเย็น 1.05 ล้านตัน และเหล็กลวดเกือบ 1 ล้านตัน

“เหล็กนำเข้า ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ตลาดหลักที่นำเข้ามา ได้แก่ จีน ปริมาณเพิ่มขึ้น +22.6% ญี่ปุ่น ปริมาณลดลง -4.9% เกาหลีใต้ ปริมาณลดลง -8.1% ไต้หวัน ปริมาณลดลง -25.3% เวียดนามปริมาณเพิ่มขึ้น +3.5% และอินโดนีเซีย ปริมาณเพิ่มขึ้น +35.9% ตามลำดับ (ดูกราฟิกประกอบ)”

    ควบรวมกิจการหนึ่งทางรอด

    ต่อคำถามที่ว่า เหล็กนำเข้าต้องผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก.ของไทยในทุกผลิตภัณฑ์หรือไม่ นายวิโรจน์ กล่าวว่า ไทยมีมาตรฐานบังคับสำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบน และเหล็กทรงยาวในเวลานี้ 21 รายการซึ่งการที่ไทยมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กช่วยให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและช่วยป้องกันไม่ให้เหล็กที่มีคุณภาพตํ่ามาขายในราคาถูกซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น เหล็กก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงอาจจะเกิดปัญหาอาคารถล่มหรือเหล็กเคลือบที่มีการลดต้นทุนเคลือบมาบางผิดปกติทำให้เกิดสนิมได้ง่าย

อย่างไรก็ดีผู้อำนวยการสถาบันเหล็กฯกล่าวช่วงท้ายว่า ปัจจุบันหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงประเทศไทย ปกป้องการจ้างงานภายในประเทศ มีมาตรการปกป้องการทุ่มตลาด (เอดี) รวมถึงมีการสนับสนุนการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และยังมีโอกาสในอนาคตที่จะใช้มาตรการต่าง ๆ ให้เข้มข้นมากขึ้น เช่น ส่งเสริมการใช้สินค้าไทยในโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูง การใช้มาตรการการหลบเลี่ยงเอดี หรือที่เรียกว่า Anti Circumvention เป็นต้น

นอกจากนี้การบริหารกำลังการผลิตให้สมดุลก็มีความสำคัญ อาทิ การส่งเสริมการควบรวมกิจการ และไม่สร้างโรงงานที่ซํ้าซ้อนกับสินค้าที่เกินความต้องการอยู่แล้ว เป็นต้น

แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ