เอกชนห่วงกำลังซื้อผู้บริโภคยังเร่งกลับมายาก หลังหนี้ครัวเรือนสูง ชี้หากรัฐบาลยังใช้เครื่องมือเดิม ๆ ในการบริหารประเทศ เข็นจีดีพีปีนี้โตได้ไม่ถึง 3% จับตาการผิดนัดชำระหุ้นกู้ของภาคเอกชนที่จะครบดีลไถ่ถอน ถ้าแก้ไม่ดีอาจกระทบทั้งระบบ

เศรษฐกิจไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยตํ่ากว่า 5% ต่อปี โดยปี 2566 ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดจะขยายตัวได้เพียง 1.8% ขณะที่ช่วง 4 ปีของรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ตั้งเป้าหมายการขยายตัวไม่ตํ่ากว่า 5% ต่อปี ท่ามกลางปัจจัยลบที่มีอยู่มากทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศ

นายพงศ์เทพ เทพบางจาก รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คงเป็นไปได้ยากที่ปีนี้กำลังซื้อของคนไทยจะกลับสู่ภาวะใกล้ปกติ เนื่องจากกำลังซื้อที่เหือดแห้งต่อเนื่องสะสมมาหลายปีตั้งแต่ก่อนโควิด ส่งผลกระทบถึงหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นเป็นมากกว่าร้อยละ 90 ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นอะไรที่แก้ไม่ง่าย แม้รัฐบาลจะอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ลงไป ก็ยังคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ในทางกลับกันโปรแรงบางอย่างของรัฐบาลก็อาจส่งผลเชิงลบ เช่น ค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อต้นปี และเตรียมปรับเพิ่มอีกช่วงกลางปีนี้ มีผลต่อต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกในปี 2567 แม้หลายปัญหาจะคลี่คลายลงบ้างแล้ว เช่นราคาพลังงานสูงจากผลพวงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาสินค้า และเงินเฟ้อสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในหลายประเทศ เวลานี้แม้สถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกปรับตัวดีขึ้น แต่จากหลายประเทศใช้งบในการแก้ปัญหาโควิดมาก ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อสถานะการคลัง จึงคาดเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่นโตได้ประมาณ 3%

“หลายปีที่ผ่านมากลไกการเติบโตของเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับภาคส่งออก และท่องเที่ยว ซึ่งปีที่ผ่านมาก็ทำได้ตํ่ากว่าเป้าหมาย ดังนั้นถ้าให้ประเมินเศรษฐกิจไทยภายใต้การบริหารงานของรัฐด้วยการใช้เครื่องมือเดิม ๆ แบบที่ผ่านมาคงทำให้เศรษฐกิจโตได้ไม่ถึง 3% แต่รัฐบาลได้เตรียมมาตรการไว้หลายเรื่อง เช่น ด้านท่องเที่ยวมีเรื่องฟรีวีซ่า การขยายเวลาปิดสถานบริการ ด้านส่งออกมีการเปิดเจรจาคู่ค้ามากขึ้น รวมถึงการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตที่ยังต้องรอว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ หรือการโฟกัสไปที่ดุลการค้ากับบางประเทศที่เราติดลบให้พลิกเป็นบวก ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ เติบโตได้ไม่ตํ่ากว่า 3%”

ส่วนประเด็นความเสี่ยงในการทำธุรกิจภายในประเทศที่น่ากังวลในปีนี้ คือการชำระคืนหุ้นกู้ของภาคเอกชนที่จะครบกำหนดไถ่ถอน หากแก้ไขได้ไม่ดีอาจกระทบทั้งระบบ ส่วนความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกคงเน้นไปที่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการเลือกตั้งผู้นำในหลายประเทศที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายระหว่างประเทศ

แหล่งข้อมูล : ฐานเศรษฐกิจ