ปี 2560 เหมือนจะเป็นปีที่ทำให้ผู้ประกอบการในแวดวงอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ มีความหวังมากขึ้น วัดจากภาพรวมของราคาเหล็กในตลาดโลกเริ่มขยับราคาสูงขึ้น อีกทั้งมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติกฎหมายป้องกันการหลบเลี่ยงพิกัดเหล็ก คาดว่าภายในปี2560 น่าจะปฏิบัติได้ จะทำให้ผู้นำเข้าเหล็กที่ชอบหลบเลี่ยงภาษี เลี่ยงพิกัดมีความยากลำบากในการนำเข้าแบบผิดกฎหมายมากขึ้น
อีกทั้งถือเป็นการทิ้งทวนข่าวดีปลายปี ที่กระทรวงพาณิชย์ ลงนามให้มีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(เอดี) สำหรับสินค้าหลอดและท่อทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า ที่มีแหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐเกาหลีเป็นการชั่วคราวแล้ว รวม 26 พิกัดเป็นเวลา 4 เดือน(กลางพ.ย.2559-กลางมี.ค.2560) ก่อนที่จะประกาศใช้ต่อไป หลังพบว่าทั้ง 2 ประเทศส่งสินค้าดังกล่าวมาทุ่มตลาดและก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะจีนที่ส่งสินค้าเหล็กเกือบทุกประเภทเข้ามาตีตลาดอย่างรุนแรงในช่วง2-3ปีมานี้
ล่าสุด”ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์พิเศษนายฐิติกร ทรัพย์บุญรอด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท แอล พี เอ็น เพลทมิล จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ประกอบการผลิตเหล็กแผ่นที่ได้รับผลกระทบ เปิดใจถึงทิศทางอุตสาหกรรมเหล็ก ความหวัง และโอกาสที่จะเกิดขึ้นในปี2560
ทิศทางอุตสาหกรรมเหล็กปี 2560
นายฐิติกร ฉายภาพใหญ่ก่อนถึงต้นเหตุที่ทำให้ผู้ผลิตทุกรายในประเทศไทยน้ำตาร่วงว่า จีนตัวการใหญ่ที่ทำให้วงการเหล็กปั่นป่วนมาต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากจีนเป็นประเทศเดียวที่มีกำลังผลิตจริงกว่า 800 ล้านตัน เกินครึ่งของกำลังผลิตโลกที่มี 1,300-1,400 ล้านตัน จากกำลังผลิตปัจจุบัน จีนใช้สำหรับบริโภคภายในประเทศ 600 ล้านตัน และอีกกว่า 200 ล้านตันเป็นส่วนเกินที่ส่งออกมาขายทั่วโลกและเวลานี้เชื่อว่า จีนกำลังได้รับผลกระทบจากการทุ่มราคาเหล็กออกมานอกบ้านแล้ว และเห็นแล้วว่าเมื่อปลายปีที่ผ่านมาโรงงานผลิตเหล็กจากจีนก็ได้รับผลกระทบจากการทุ่มราคาเหล็กออกมา สะท้อนภาพ ขาดทุนไปหลายหมื่นล้านบาท ทั้งที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
“ขณะนี้รัฐบาลจีนเข้าใจแล้วว่าการทุ่มตลาดไม่ได้ทำให้ธุรกิจจีนเจริญเติบโตได้ ก็เลยหันมาใช้มาตรการตัดกำลังการผลิตลงไป จึงทำให้ราคาปรับขึ้นมาเล็กน้อย พอราคาดีทุกคนก็กลับมาผลิตใหม่ ทำให้ราคายังไม่ปรับอย่างถาวรเท่าที่ควร”
อีกทั้งช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาจีนก็มีการลดกำลังการผลิต ทำให้ราคาเหล็กกลับมากระเตื้องขึ้นอีก รวมถึงราคาวัตถุดิบ เช่นโค้ก ถ่านหินที่ใช้ในการถลุงเหล็ก ที่ปรับราคาขึ้นจากจากกว่า 60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันขึ้นมาเป็นกว่า 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งปรับขึ้นเยอะ หรือราคา บิลเล็ต(วัตถุดิบสำหรับผลิตเหล็กเส้น) ราคาขยับจาก 300 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันมาเป็น400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน สแลป(วัตถุดิบสำหรับผลิตเหล็กแผ่น)จาก 380 ดอลลาร์สหรัฐฯมาเป็น 450 ดอลลาร์สหรัฐฯจากที่ราคาวัตถุดิบยังไม่นิ่งและมีราคาสูงขึ้นทำให้ผู้ผลิตเหล็กยังไม่กล้าสั่งซื้อ
ส่วนราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นนั้น จะส่งผลมาถึงราคาเหล็กชนิดต่างๆที่สูงขึ้นตามมา เช่น ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนในตลาดโลกขยับขึ้นจาก450 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันเป็น550 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ถ้าคิดเป็นกิโลกรัมเท่ากับว่าราคาขึ้นมาอยู่ที่ 19,000 บาทต่อตัน
ราคาในไทยจะปรับขึ้นช้ากว่าตลาดโลก
สำหรับราคาเหล็กในประเทศ เวลานี้ยังไม่ปรับขึ้น ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนยังคงยืนอยู่ที่1.7-1.8 หมื่นบาทต่อตัน โดยราคาจะปรับขึ้นช้ากว่าราคาในตลาดโลกอยู่ราว 1-2 เดือน และคาดว่าราคาเหล็กในประเทศจะปรับสูงขึ้นในต้นปีหน้าอีกราว 1-2 บาทต่อกิโลกรัม แต่ก็ยังยืนอยู่ที่ความยากลำบาก เพราะ 1.เหล็กภายในประเทศไทยยังมีสต็อกเหล็กเก่าอยู่ 2.จีนเปิดหน่วยลงทุนเรื่องโลหะ เหล็กในตลาดหุ้น ดังนั้นชาวบ้านที่ไม่มีส่วนร่วมในธุรกิจก็มาแห่ซื้อไว้ ทำให้ราคาสูงกว่าตลาด พอเหล็กในตลาดหุ้นสูงเกินตลาดจริงโรงงานเลยต้องขยับราคาตาม ทำให้ราคาเหล็กดังกล่าวไม่สะท้อนความเป็นจริงของดีมานด์ซัพพาย คนซื้อก็ไม่อยากซื้อเหล็กในราคาสูง เพราะราคายังแกว่งอยู่มีขึ้น มีลง อยากรอจังหวะให้ราคาถูกที่สุด
อย่างไรก็ตามถือว่าปี 2558 ปี2559 ยังเป็นปีที่ผู้ผลิตเหล็กในประเทศอยู่ในสภาพที่ต้องบริหารความเสี่ยงด้านการผลิต และบริหารราคาได้ยากเนื่องจากราคาวัตถุดิบไม่นิ่ง ฉะนั้นการกำหนดราคาอาจจะกำไรหรือขาดทุนจะไม่รู้ล่วงหน้า แต่ก็ยังดีกว่าปี2556-2557 ที่จะเห็นว่าราคาถอยลงมาจาก 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลงมาเหลือ300ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งไม่มีโอกาสทำกำไร ขาดทุนอย่างเดียว
“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเรียกว่าผู้ประกอบการเหล็กไม่มีโอกาสทำกำไรเลย ซึ่งตอนนั้นบรรดาเทรดเดอร์นำเข้าเหล็กมาจากจีนจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการนำเข้ามาแบบเลี่ยงพิกัด จนทำให้ไม่มีการเสียภาษีทุกอย่างทั้งภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดหรือเอดี ภาษีอากรขาเข้า ขณะที่ไทยก็ยังไม่มีมาตรการรับมือที่รวดเร็วโดยจะเห็นว่าประเทศไทยใช้เหล็กทุกชนิดรวมกัน 17 ล้านตัน แต่เป็นการใช้จากกำลังผลิตในประเทศเพียง3-4 ล้านตัน ที่เหลือเป็นการบริโภคจากการนำเข้าทั้งหมด ทำให้ผู้ผลิตเหล็กในประเทศกระทบมาก รวมถึงบริษัทด้วย”
แอล พี เอ็น เพลทมิลต้องปรับตัว
ธุรกิจแอลพีเอ็น เพลทมิล ความจริงโรงงานเรามีขีดความสามารถในการผลิตได้ 4-5 แสนตันต่อปี แต่ด้วยการแข่งขันที่สูงมาก จากการมาทุ่มตลาดของจีนทำให้บริษัทผลิตเหล็กได้เพียง 1 แสนตันต่อปีเท่านั้น หนีการแข่งขันโดยมุ่งผลิตไปยังเหล็กที่เจาะเฉพาะตลาดมากขึ้น และเป็นเหล็กชนิดที่มีคู่แข่งจากการนำเข้าน้อย โดยป้อนเหล็กให้กับโรงงานอุตสาหกรรม หรือสำหรับสร้างโรงไฟฟ้า และระบบโครงสร้างพื้นฐานรัฐเป็นหลัก เช่น งานก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่
“ปี2556-2557 ที่เราขายขาดทุน บางปีผลิตได้เพียง 5-6 หมื่นตันเท่านั้น มาปี2559 ถือว่ายังโชคดีที่ราคาเหล็กไม่ลดลงตลอดทั้งปี ยังมีช่วงให้ทำกำไรได้ เราสามารถนำเงินไปใช้หนี้ได้ และยังสามารถดูแลพนักงานร่วม 300 คนได้ ปีหน้าหวังว่า บริษัทจะสามารถทำกำไรได้ จากฐานลูกค้าหลายร้อยรายในกทม.และปริมณฑลที่มีอยู่แล้ว”
ปี 2560 พบสัญญาณใช้เหล็ก
สำหรับปี2560 เริ่มมองเห็นสัญญาณบวก เพราะมองเห็นว่าการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐเริ่มขยับได้มากขึ้น มากกว่าปี2559 อีกทั้งมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติกฎหมายป้องกันการหลบเลี่ยงพิกัด คาดว่าภายในปี2560 น่าจะปฏิบัติได้ จะทำให้ผู้นำเข้าเหล็กที่ชอบหลบเลี่ยงภาษี เลี่ยงพิกัดนำเข้ายากขึ้น รวมถึงจะมีการลงทุนภาครัฐ ตรงนี้จะเป็นโอกาสที่เกิดขึ้นในปีหน้า
ส่วนการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคอสังหาฯหลายค่ายยังไม่มั่นใจจะเปิดโครงการใหม่ๆ แต่ต้องการระบายสต็อกเก่าเร่งขายให้หมดก่อน เช่นคอนโดมิเนียมที่สร้างแล้ว ยังไม่ปิดโครงการทำให้การบริโภคเหล็กเพื่อไปสู่ภาคที่อยู่อาศัยยังขยายตัวได้ไม่มากนัก อีกทั้งการบริโภคเหล็กยังเกิดขึ้นได้ไม่เต็มที่ เช่นเดียวกับความต้องการใช้เหล็กในตลาดโลกยังไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากด้วย
“ถ้ามองในทางกลับกัน ในภาคพื้นเอเชีย เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ระบบโครงสร้างพื้นฐานยังต้องขยายตัว ตรงนี้ยังถือว่าเป็นข้อดี ”
แนะผู้ใช้เหล็กในงานโครงสร้างรวมกลุ่มก่อนตาย
นายฐิติกร กล่าวอีกว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้หารือกับ 7 สมาคมผู้ประกอบการเหล็ก ประกอบด้วย 1.สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย 2.สมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย 3.สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น 4.สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า 5.สมาคมการค้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี 6.สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน 7.กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ซึ่งมีสมาชิกรวมกันกว่า 470 บริษัท ว่าที่ผ่านมาใครกระทบเรื่องเหล็ก พอร้องเข้าไปคนนั้นได้รับการช่วยเหลือ และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ ที่ลงทุนตั้งแต่หลายพันล้านบาทไปถึงหลักหมื่นล้านบาท แต่เวลานี้มีกลุ่มผู้ใช้เหล็กที่มีการนำเข้าเหล็กที่ใช้ในงานโครงสร้างและเป็นบริษัทขนาดเล็กๆระดับหลักร้อยล้านบาทขึ้นไป ที่ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกระบวนการร้องเรียนเหล่านี้ด้วย ทั้งที่กำลังเผชิญปัญหาสู้กับเหล็กที่นำเข้าสำเร็จรูปมาจากต่างประเทศไม่ได้ และเริ่มเห็นว่ามีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม โดยการนำเข้าเหล็กสำเร็จรูปมาประกอบมากขึ้นเมื่อมาถึงไทยก็แค่ขันนอตอย่างเดียว ทำให้ผู้ใช้เหล็กที่ทำงานโครงสร้างเหล็กกระทบ จนบางรายต้องปิดกิจการไปแล้ว
“เวลานี้จะเห็นคนที่สร้างโรงงานที่เป็นกลุ่มผู้รับเหมาเหล็กไม่มีธุรกิจ ไม่มีงานทำ ปิดตัวไปมาก เพราะสามารถนำเข้าเหล็กมาประกอบได้เลย โดยเหล็กนำเข้าเหล็กโครงสร้างสำเร็จรูปเพราะไม่เสียภาษี ในขณะที่เหล็กแผ่นรีดร้อน ยังมีภาษีเอดีบางรายนำเข้ามาก็ปลอดภาษีเพราะได้รับการส่งเสริม ซึ่งจะเห็นว่ากลุ่มผู้ใช้เหล็ก หรือผู้รับจ้างสร้างโรงงานจะไม่มีแอกชันตรงนี้เลย”
จากกรณีดังกล่าวได้เสนอแนะไปในที่ประชุมสมาคมว่า เขาน่ารวมกลุ่มกัน แล้วร้องเรียนไปยังภาครัฐ ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีแต่บริษัทใหญ่ๆทำ เพราะมีความพร้อมด้านข้อมูลสนับสนุน แต่บริษัทเล็กๆอย่างกลุ่มผู้รับจ้างทำโรงงาน ทำงานโครงสร้างเหล็ก มีความไม่พร้อมสูง พอมีปัญหาก็ไปต่อไม่ได้ ต้องปิดกิจการมองว่าถ้ารัฐจะปกป้องธุรกิจในประเทศ ก็ต้องคุ้มครองทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เราถึงจะรอดไปด้วยกัน
Cr. หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ