ทาบเหล็ก
ทาบเหล็ก คือ การต่อความยาวเหล็กเส้นกลมหรือเหล็กข้ออ้อยที่ใช้เป็นเหล็กเสริมในโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก เช่น เสา คาน พื้นหล่อในที่ แม่บันได ฯลฯ โดยใช้ลวดมัดหรือเชื่อมด้วยความร้อน ซึ่งระยะของการทาบซ้อนกันของเหล็กทั้งสองเส้น สำหรับเหล็กข้ออ้อยต้องไม่น้อยกว่า 40 เท่าของเส้นผ่าศูนย์กลางของเหล็ก ส่วนเหล็กเส้นกลมต้องไม่น้อยกว่า 50 เท่าของเส้นผ่าศูนย์กลางของเหล็ก เช่น หากนำเหล็กข้ออ้อยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 มิลลิเมตร สำหรับใช้เป็นเหล็กยืนมาต่อกัน ระยะทาบคือ 16 มิลลิเมตร x 40 = 640 มิลลิเมตร (64 เซนติเมตร) สามารถทาบมากกว่านี้ได้แต่ห้ามน้อยกว่านี้เป็นอันขาด และถ้าต้องต่อทาบเหล็กที่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของไม่เท่ากัน ก็ให้ยึดระยะตามขนาดเหล็กที่ใหญ่กว่าเสมอ สำหรับเหล็กที่เส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 25 มิลลิเมตรขึ้นไป จะไม่นิยมใช้การทาบเหล็ก เนื่องจากเหล็กขนาดใหญ่จะมีโอกาสที่ตำแหน่งจะเยื้องศูนย์กลางได้ง่าย จึงนิยมใช้ปลอกหรือข้อต่อเหล็กเป็นตัวเชื่อมต่อมากกว่า
ตำแหน่งที่ทาบเหล็กวิศวกรจะเป็นผู้คำนวณและออกแบบเอาไว้ โดยหลีกเลี่ยงจุดที่ต้องรับแรงกระทำมากในระบบการถ่ายแรงโดยรวมของโครงสร้าง เช่น โครงสร้างคานโดยปกติจะมีเหล็กเสริมสองชุด คือ เหล็กเสริมบนและเหล็กเสริมล่าง เหล็กเสริมบนห้ามทาบเหล็กบริเวณรอยต่อระหว่างคานกับหัวเสา ส่วนเหล็กเสริมล่างห้ามทาบเหล็กบริเวณตรงกลางคาน เพราะทั้งสองตำแหน่งเป็นจุดที่ต้องรับแรงดึงมากที่สุดในโครงสร้างคาน เป็นต้น