สัมภาษณ์
การทุ่มตลาดของเหล็กจีนเข้ามายังประเทศไทย ส่งผลกระทบถ้วนหน้าต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็ก ไม่เว้นแม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่างสหวิริยา ล่าสุดได้แตกไลน์ธุรกิจออกมารับงานภายนอกองค์กร “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “สุรเดช มุขยางกูร” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสวีแอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะผู้บริหารเอสวีแอล กรุ๊ป กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจรในเครือสหวิริยาถึงทิศทางและนโยบายในการดำเนินธุรกิจ
Q : สาเหตุที่มาทำโลจิสติกส์เต็มตัว
สหวิริยาทำธุรกิจเหล็กมา 60 กว่าปี เหล็กมีน้ำหนักมาก การขนส่งเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้น สหวิริยาขนส่ง ได้ถูกจัดตั้งมา 50 ปี เพื่อขนเหล็กจากโรงงานที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ไปส่งลูกค้าที่กรุงเทพฯและปริมณฑลถึงอีสเทิร์นซีบอร์ด เมื่อก่อนไม่ต้องทำอะไรมาก
อิงกับธุรกิจเหล็กไป ธุรกิจเหล็กดี เรามีการขนส่งมาก ธุรกิจเหล็กไม่ดีอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก จน 3 ปีที่ผ่านมาช่วงที่เหล็กเริ่มเกิดวิกฤต หากเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ชีวิตพนักงาน 500-600 คนจะทำอย่างไร เลยเกิดความคิดเริ่มจัดโครงสร้างกันใหม่ กลายมาเป็น “สหวิริยา โลจิสติกส์” เราต้องเคลื่อนย้ายของ ทำคลังสินค้า ทำเรื่องการจัดจำหน่ายให้ลูกค้ามากขึ้น สิ่งที่พยายามมองคือ เมื่อก่อนเราไม่เคยมีคนไปหาลูกค้า มีแต่ลูกค้ามาหา แต่วันนี้เราตั้งทีมเพื่อไปหาลูกค้า
Q : ทรัพยากรที่จะทำครบวงจร
ปัจจุบันสหวิริยามีรถบรรทุก 200 คัน มีรถของพันธมิตรอีก 300 คัน รวมมีรถบรรทุก 500 คัน มีท่าเรือ 2 แห่ง คือ ท่าเรือบริเวณปากแม่น้ำบางปะกง และท่าเรือน้ำลึกที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สามารถรองรับเรือขนถ่ายสินค้าที่มีระวางขับน้ำสูงสุดถึง 100,000 (Dead Weight Tonnage-DWT) ยังมีเรือขนาดเล็กจอดได้อีก 8 ลำ มีท่าทีรองรับเรือขนส่งชายฝั่ง มีเครน อุปกรณ์ขนส่งครบหมด ร่องน้ำลึกธรรมชาติลึกมากถึง 14 เมตรไม่ได้ขุดลอก ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของกลุ่มโลจิสติกส์ เพราะการขนส่งเหล็กทางเรือช่วยลดปริมาณการจราจรคับคั่งบนถนน และช่วยลดต้นทุนให้ลูกค้าด้วยการต่อเรือลำเลียง 60 ลำ ขนาดระวางบรรทุก 2,000-2,200 ตันต่อลำ ขณะที่รถบรรทุก 1 คัน บรรทุกได้ 30 ตัน เท่ากับใช้เรือ 1 ลำ ประหยัดการใช้รถบรรทุกไปได้ 70 คัน บางครั้งใช้เรือลำเลียงพ่วง 3 ลำ เท่ากับรถบรรทุกหายไป 200 กว่าคัน
Q : การรับงานใน-นอกเครือ
ทุกวันนี้ท่าเรืองานในเครือใช้ 70% งานนอก 30% ส่วนธุรกิจเรือขนส่งมากกว่า 50% รับงานข้างนอก ขนมันสำปะหลัง ถ่านหิน กากถั่วเหลือง ส่วนใหญ่วิ่งตั้งแต่เกาะสีชังไปอยุธยา ส่วนรถบรรทุกปีล่าสุดเราเริ่มดิวกับลูกค้าบริษัทไทยน้ำทิพย์ ซึ่งรับผิดชอบการทำตลาดโค้กภาคกลาง กับบริษัทหาดทิพย์ ซึ่งอยู่ 14 จังหวัดภาคใต้ มีสินค้าหลายตัวที่เรารับขนผลิตภัณฑ์จากไทยน้ำทิพย์ จ.ปทุมธานี ไปส่งให้หาดทิพย์ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เช่น โค้ก น้ำเปล่า ฯลฯ แต่ขากลับเราวิ่งนำเหล็กขึ้นมา ตอนหลังหาดทิพย์จ้างเราให้ขนของจากสุราษฎร์ธานีวิ่งมาส่งที่ชุมพร สหวิริยาถือเป็นผู้ให้บริการขนส่งที่มีต้นทุนต่ำมาก ๆ ในการขนสินค้าลงภาคใต้ยอดรายได้จากขนส่งปี 2559 ประมาณ 1,500 ล้านบาท ปี 2560 ไม่ได้ตั้งเป้าเป็นยอดรายได้ แต่ตั้งเป้าให้สัดส่วนรายได้งานในเครือ 60% ต่องานนอกเครือ 40% ปี 2561 สัดส่วนรายได้งานในเครือให้เหลือ 50% งานนอกเครือ 50% เราตั้งใจให้คนวิ่งออกไปหางานข้างนอก งานในเครือไม่ต้องขาย
ผมไม่อยากฝากชีวิตไว้ที่อุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง ไม่ควรเกินครึ่งหนึ่งของรายได้รวมของบริษัท อย่างน้อยชีวิตพนักงานจะได้ปลอดภัย เพราะอุตสาหกรรมมีขึ้น-ลง จะทำให้ภาพรวมการขนส่งมียอดรายได้ดีขึ้น
Q : แผนพัฒนาโลจิสติกส์ครบวงจร
ด้วยศักยภาพที่เผอิญมีพื้นที่หลังท่าเรือน้ำลึกอยู่ 1,660 ไร่ จึงตัดสินใจที่จะทำโครงการ “นิคมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์” มูลค่า 2,500 ล้านบาท เราต้องการให้ที่นี่กลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์สำหรับภาคตะวันตกและภาคใต้ตอนบน เชื่อมโยงการขนส่งทางรถ เรือ และรถไฟจากภาคใต้ ภาคตะวันตก เชื่อมโยงสู่เขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ด้วยการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดเส้นทางเดินเรือข่นส่งสินค้าขนาดใหญ่วิ่งตัดตรงจากท่าเรือประจวบไปท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ระยะทาง 116 ไมล์ทะเล ปัจจุบันอยู่ระหว่างดึงพันธมิตรจากญี่ปุ่นและกลุ่มสแกนดิเนเวียที่มีความเชี่ยวชาญในการเดินเรือขนาดใหญ่เข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ
Q : แผนเชื่อมกับเมืองมะริด เมียนมา
บางสะพานถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกอันหนึ่ง ที่จะเชื่อมพัฒนาแลนด์บริดจ์ไปสู่เมืองมะริด เป็นเมืองท่าสำคัญทางภาคใต้ของประเทศเมียนมา เศรษฐกิจของมะริดทั้งหมดขึ้นกับสินค้าประมงเป็นหลัก เป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญนำสัตว์น้ำมาป้อนให้มหาชัย แต่วันนี้เส้นทางคมนาคมยังไม่ดี ต้องวิ่งขนส่งอาหารทะเลจากมะริดมาเกาะสอง ใกล้ จ.ระนอง แล้ววิ่งตีรถกลับไปมหาชัย
เส้นทางที่น่าสนใจจากด่านสิงขรไปมะริด ระยะทาง 180 กม. จะแล้วเสร็จช่วงปลายปี 2561 คาดว่าจะทำให้ระยะเวลาขนส่งน่าจะเหลือ 3 ชม.กว่า ๆ
Q : ธุรกิจโลจิสติกส์แข่งขันสูง
ธุรกิจโลจิสติกส์เป็นธุรกิจที่ขยายตัวหวือหวา มีธุรกิจใหม่ ๆ การบริการใหม่ ๆ เกิดขึ้นค่อนข้างมาก เราเตรียมเรื่องการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีไว้เหมือนกัน ทุกคนเลือกของถูกเป็นหลัก ผมบอกลูกน้องตลอดเวลา 1 ใน 4 เป้าหมายของเราต้องเป็นผู้นำด้านต้นทุนในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ไม่ได้แปลว่าเราขายของถูก แต่เราต้องรู้จักบริหารต้นทุนให้ได้ต่ำ ต้องหาวิธีนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ธุรกิจขนส่งเป็นธุรกิจที่อ่อนไหวเรื่องราคามาก ๆ
ทุกคนวิ่งไปหาของที่ถูก ต้นทุนโลจิสติกส์เฉลี่ยของประเทศประมาณ 13-17% ของการผลิต ลูกค้าทุกคนต้องการของถูกของดี ไม่มีว่าบริษัทในเครือ หรือนอกเครือ เขาเองต้องแข่งกับตัวเอง ต้องทำให้ต้นทุนลงมาให้ได้
Cr : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์