นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวตามที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กำชับ กทม. และจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็กให้กวดขันการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง โดยเฉพาะมาตรการลดมลพิษจากต้นกำเนิด
รวมทั้งให้มีมาตรการติดตาม เฝ้าระวัง ประเมิน วิเคราะห์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก และปรับแผนเผชิญเหตุให้ทันต่อสถานการณ์ พร้อมทั้งสร้างการรับรู้แก่ประชาชนให้ทราบสถานการณ์ที่ถูกต้องว่า ที่ผ่านมา กทม. ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการใช้มาตรการทางกฎหมายควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองจากยานพาหนะ ได้แก่
การเข้มงวดตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำทุกประเภท ร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และกรมควบคุมมลพิษ ตลอดจนขอความร่วมมือประชาชนให้มีส่วนร่วมลดปัญหามลพิษทางอากาศ หากพบรถยนต์ปล่อยควันดำเกินมาตรฐาน แจ้งสายด่วน 1584 การรณรงค์ไม่ขับ…ช่วยดับเครื่อง ตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ไม่ให้เกิดมลพิษ เข้มงวดมาตรการห้ามเผาขยะและเผาในที่โล่งทุกชนิดอย่างต่อเนื่อง
ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกันยังได้แจ้งเตือนสถานการณ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลข่าวสาร พร้อมแนะนำการปฏิบัติตนเพื่อดูแลสุขภาพอนามัยให้ปลอดภัยจากฝุ่นละออง ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่
www.bangkokairquality.com www.air4bangkok.com Facebook : กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม www.prbangkok.com สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร และ Facebook : สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม. รวมถึงเพิ่มความถี่การแจ้งเตือนสถานการณ์มลพิษทางอากาศเป็นวันละ 3 รอบเวลา คือ 07.00 น. 12.00 น. และ 15.00 น.
เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ยังสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน AirBKK เวอร์ชั่นทดลองใช้สำหรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เพื่อติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศที่แสดงผล AQI แบบเรียลไทม์ตามตำแหน่งที่ผู้ใช้งานอยู่ ณ ปัจจุบัน
ซึ่งเป็นการแจ้งเตือนและแนะนำวิธีดูแลสุขภาพป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 อีกทั้งมีแผนการปรับปรุงระบบประมวลผลให้สามารถรองรับการเฝ้าระวังและการพยากรณ์คุณภาพอากาศให้ครอบคลุมสารมลพิษที่สำคัญทุกชนิด รวมถึงจัดทำระบบรายงานและแจ้งเตือนคุณภาพอากาศผ่านข้อความทางโทรศัพท์มือถือ (SMS) เพื่อให้ประชาชนสามารถนำข้อมูลคุณภาพอากาศไปพิจารณาหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งหรือกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวว่า สำนักการโยธา ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในระยะเร่งด่วน โดยแจ้งผู้ดำเนินการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร
ให้ปฏิบัติตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 อย่างเคร่งครัด อีกทั้ง กำหนดเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตก่อสร้างอาคารฯ (แบบ อ.1) และใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคารฯ (ยผ.4) ให้ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขในการก่อสร้างตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4
และจะต้องไม่กระทำการใด ๆ อันอาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน โดยผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการฉีดพ่นละอองน้ำบนอาคารและบริเวณรอบสถานที่ก่อสร้างอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ ส่วนอาคารที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและใช้งานแล้ว ได้ขอความร่วมมือให้ติดตั้งระบบสปริงเกอร์หัวฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณดาดฟ้าอาคาร เพื่อพ่นละอองน้ำดักจับฝุ่นละอองอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจากhttps://www.ryt9.com/s/prg/3084351