บ้านคือวิมานของเรา ประโยคสั้น ๆ ที่สื่อความหมายได้ดีของคนรักบ้าน ผู้ที่มีบ้านส่วนใหญ่จึงย่อมต้องคอยตรวจตราดูตามส่วนต่าง ๆ ของบ้าน เพื่อให้สามารถอยู่อาศัยได้อย่างมั่นใจและมีความสุขภายใต้บ้านสวยที่ตั้งใจสร้างขึ้นมา แต่เมื่อเวลาผ่านไปบ้านที่เคยสวยงามก็ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ทำให้ส่วนต่าง ๆ ภายในบ้านเริ่มทรุดโทรม ลอกล่อน หรืออาจถึงขั้นต้องเปลี่ยนใหม่เลยก็มีเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนของโครงสร้างที่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญมากของบ้าน ที่เมื่อทรุดโทรมไปแล้วก็อาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อยู่อาศัยเอาได้ง่าย ๆ จึงควรมีการตรวจสอบตัวบ้านเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ช่วงเวลาที่น่าสนใจในการตรวจเช็คบ้านคือทุก ๆ 1-2 ปี อย่าปล่อยให้ล่วงเลยไปเป็น 10 ปี เพราะอาจจะทำให้ปัญหาภายในบ้านลุกลามไปถึงขั้นต้องยกบ้านใหม่ไปทั้งหลัง จนต้องเสียเงินซ่อมแซมเป็นจำนวนมาก ซึ่งช่วงนี้ก็จะสิ้นปีแล้ว ทาง babbaan.in จึงขอแนะแนวทางในการตรวจสอบบ้านประจำปี มาให้ผู้อ่านได้ลองนำเอาไปตรวจสอบบ้านของตัวเองก่อนเข้าสู่ปีใหม่กันค่ะ
วิธีตรวจเช็คบ้านประจำปี |
1. ตรวจสอบโครงสร้างบ้านทั้งภายในและภายนอก ควรตรวจดูรอยร้าวรอบบ้าน การทรุดของพื้นที่โรงจอดรถ โซนซักล้างภายนอก ภายในก็ให้ดูบริเวณตามผนัง มุมเสา พื้นห้องน้ำ เป็นต้น เมื่อเจอแล้วควรถ่ายรูปพร้อมจดบันทึกเอาไว้ รอยร้าวเหล่านี้ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เพราะจะไปกระทบกับโครงสร้างใหญ่ภายในตัวบ้าน จนอาจเกิดอาการทรุดและกลายเป็นอันตรายไปในที่สุด
วิธีแก้ไข ถ้ามีรอยร้าวจำนวนไม่มากก็ควรตามช่างที่ไว้ใจได้มาทำการแก้ปัญหา แต่ถ้ามีรอยร้าวจำนวนมากก็จำเป็นที่จะต้องปรึกษาไปทางวิศวกรและทำการรีโนเวทโดยด่วน ไม่ควรปล่อยเอาไว้เด็ดขาด
2.สีบ้าน ไม่ว่าจะภายในหรือภายนอกก็ควรตรวจดูทั้งหมด สีเป็นส่วนที่บ่งบอกถึงกาลเวลาได้ดีที่สุด โดยเฉพาะสีภายนอกที่จะต้องโดนทั้งแดดเผาและโดนฝนอย่างหนักหน่วงมาตลอดทั้งปี แต่ถ้าใช้สีมีคุณภาพดี ปัญหานี้ก็อาจจะพอเบาลง แต่ถ้าใช้สีคุณภาพกลาง ๆ ก็อาจจะมีสีพองตัว หลุด ลอกล่อนออกมากวนใจเล็ก ๆ น้อย ๆ แม้แต่ภายในตัวบ้านสีก็สามารถลอกล่อนได้จากระบบน้ำรั่วซึมภายใน หรือเกิดจากการโดนเสียดสีจากเฟอร์นิเจอร์ และเป็นรอยไม่สวยงาม
วิธีแก้ไข ทาทับสีเก่าด้วยสีใหม่เพื่อเพิ่มความสดใสให้กับตัวบ้าน และยังทำให้บ้านดูใหม่ โดดเด่นน่ามองอีกด้วย แต่ถ้าใช้สีที่มีคุณภาพสูง ภายใน 1 ปี ก็ไม่น่ากังวลต่อปัญนี้เท่าไหร่นัก
3.ตรวจสอบฝ้าเพดาน หลังคา และวัสดุหลังคา ตรวจสอบดูว่าหลังคายังคงใช้งานได้ตามปกติ ไม่มีการโก่งหรือบิดเบี้ยวของตัววัสดุหลังคา ซึ่งการตรวจสอบจุดนี้จะเห็นได้ชัดเมื่อยามที่ฝนตก เพราะฉะนั้นถ้าวันไหนมีฝนตกหนักก็ควรตามดูส่วนต่าง ๆ ของบ้านว่ามีอาการรั่วซึมตรงจุดไหนบ้าง หรือดูว่ามีรอยคราบน้ำที่ฝ้าเพดานหรือไม่ และให้ดูที่รอยร้าวภายในตัวบ้านนั้นมีรอยตะไคร่น้ำเกาะอยู่หรือไม่ ถ้ามีทั้ง 2 รอยนี้ก็แสดงว่าหลังคารั่วซึมเป็นที่เรียบร้อย
วิธีแก้ไข ควรเรียกช่างหลังคาเข้ามาซ่อมแซมและตรวจสอบวัสดุบนหลังคาเพิ่มเติมไปด้วย เพื่อที่จะสามารถมั่นใจได้ว่าการซ่อมหรือเปลี่ยนรอบนี้จะช่วยทำให้หลังคาสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
4.ระบบต่าง ๆ ภายในบ้าน ที่ไม่ว่าจะเป็น ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำ และระบบระบายน้ำภายใน ภายนอกบ้าน ต้องตรวจสอบให้ดี โดยไล่ตรวจสอบดังนี้
- ตรวจสอบปลั๊กไฟว่ามีอุปกรณ์อยู่ครบ ไม่มีจุดไหนที่สายขาด หรือปลั๊กชำรุด ตัวเบรกเกอร์ยังใช้งานได้ดี ตัวตัดไฟก็ยังคงใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ระบบน้ำภายในและนอกบ้านตรวจดูว่าการไหลของน้ำแรงเท่ากันหรือไม่ ถ้าไม่เท่ากันแสดงว่าต้องมีจุดใด จุดหนึ่งที่มีการตัน หรือมีการแตกร้าว รั่วซึมจากท่อน้ำภายในบ้าน ให้ตรวจดูทางเดินของท่อว่ามีจุดใดที่มีคราบน้ำซึม มีสนิม และมีกลิ่นเหม็นออกมาหรือไม่ ถ้ามีก็อาจจะเป็นไปได้ว่าจุดนั้นท่อมีอาการรั่วแล้วนั่นเอง
- ระบบระบายน้ำก็ให้ดูที่ตัวสุขภัณฑ์ จุดระบายน้ำลงของห้องน้ำ อ่างล้างหน้า อ่างล้างจาน ควรตรวจสอบให้ดีว่าอาการตันเกิดจากท่อตรงส่วนไหน แล้วให้แก้ตรงจุดนั้น ไม่เช่นนั้นก็อาจจะต้องรื้อกันทั้งระบบเลยทีเดียว
วิธีแก้ไข
- ระบบไฟฟ้าควรตรวจสอบด้วยการไล่เปิด-ปิดไฟทุกดวงในบ้าน เพื่อดูว่ายังคงใช้งานได้ดี ดูว่าสายไฟและปลั๊กต่าง ๆ อยู่ในจุดที่จะโดนกัดจากสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์อื่น ๆ ได้หรือไม่ แล้วทำการย้ายจุดและทำการซ่อมแซมอย่างระมัดระวัง
- ระบบน้ำและระบบระบายก็ตรวจสอบจากก๊อกน้ำ อ่างล้างจาน และสุขภัณฑ์ภายในบ้าน ถ้ามีปัญหาก็ให้ลองถอดอุปกรณ์ดูว่าเกิดจากการตันของตะกรันน้ำหรือเศษขยะหรือไม่ ถ้าใช่ก๋็ควรล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย แต่ถ้าไม่ใช่นั่นก็หมายความว่าระบบภายในมีปัญหา ต้องเรียกช่างมาดูเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่ลุกลามมากกว่าเดิม
5.วัสดุต่าง ๆ ที่ใช้งานภายในบ้าน ที่ไม่ว่าจะเป็นพื้นบ้าน ทางเดินนอกบ้าน ผนังภายในบ้าน ฝ้าเพดา ประตูและหน้าต่าง โดยไล่ตรวจสอบดังนี้
- พื้นไม้หรือกระเบื้องต้องดูว่ามีการชำรุด แตก หัก หรือเปิดขึ้นมาจนอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่อยู่อาศัยภายในบ้านหรือไม่
- ทางเดินนอกบ้าน สำหรับคนที่มีสวนแล้วมีทางเดินหินธรรมชาติเพื่อความสวยงาม เมื่อใช้งานนานวันเข้าก็จะเกิดชำรุด ตะไคร่น้ำขึ้น หรือมีการแตกหักจนไม่น่ามองและอาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้อีกด้วย
- ผนังภายในบ้านที่ไม่ว่าจะผนังวอลเปเปอร์มีรอยหรือคราบสกปรกหรือไม่ ผนังกระเบื้องห้องน้ำมีการกระเทาะออกมาหรือไม่
- ฝ้าเพดานที่โดนคราบน้ำจากการรั่วซึมของหลังคาเป็นคราบดูไม่สวยงาม และอาจจะทำให้กลายเป็นรังของแมลงสาบหรือหนูบ้านได้อีกด้วย เพราะมีความอับชื้นสูง
- ประตูและหน้าต่างชำรุดหรือไม่ มีร่องรอยแตกหัก หรือคราบสกปรกหรือไม่ มีปลวกหรือรอยผุจนอาจจะหลุดออกมาทั้งบานหรือไม่ และกระจกหน้าต่างหรือประตูมีรอยร้าวหรือไม่
วิธีแก้ไข
- พื้นไม้หรือกระเบื้องที่แตกและเปิดออกมา ควรเปลี่ยนใหม่แล้วทำการปิดผิววัสดุด้วยปูนหรือวัสดุที่เหมาะสมกับพื้นแบบนั้น ๆ ให้กลับไปเรียบเนียนและดูเข้ากัน
- เปลี่ยนหินธรรมชาติตรงจุดที่มีปัญหาใหม่ทั้งหมด ส่วนที่เป็นคราบตะไคร่น้ำก็ให้ลองขัดดูก่อนว่าออกหรือไม่ ถ้าไม่ออกและมีรอยร้าวก็ควรเปลี่ยนทันที แต่ถ้ามีอาการร้าวและทรุดก็ควรเลาะออกทั้งหมดแล้วเทพื้นใหม่ พร้อมเปลี่ยนหินปูยกเซ็ตเพื่อให้เกิดความปลอดภัย
- ผนังภายในบ้านที่เป็นวอลเปเปอร์ก็เพียงแค่ซื้อลายใหม่มาแล้วลอกเอาวอลเปเปอร์เก่าออก พร้อมติดตั้งใหม่เพื่อให้เกิดความสวยงามและห้องดูใหม่ขึ้น ส่วนกระเบื้อห้องน้ำให้ลองใช้นิ้วเคาะดู ถ้ามีเสียงคล้ายด้านในกลวง ก็ให้เลาะออกแล้วเปลี่ยนใหม่ทันที หรืออัดปูนให้แน่นขึ้น เพื่อป้องกันหล่นลงมาแตก และอาจทำให้เกิดอันตรายได้
- เปลี่ยนฝ้าเพดานใหม่ ซึ่งควรต้องทำการซ่อมหลังคาให้เรียบร้อยก่อน หรือถ้าเป็นเพดานชั้นล่างก็ซ่อมระบบท่อน้ำให้หยุดรั่วซึม แล้วทำการเปลี่ยนฝ้าเพดานใหม่ได้เลย
- ประตูและหน้าต่างให้เลือกดูว่าบานไหนที่ชำรุดน้อยก็เพียงแค่ทำความสะอาดและซ่อมแซม แต่ถ้าบานไหนเสียหายหนัก ผุพัง โดนปลวกกัดกิน กระจกร้าว ก็ให้เปลี่ยนใหม่ได้เลยทันที
การตรวจดูความเป็นไปของตัวบ้านในแต่ละปี จะช่วยทำให้คุณไม่ต้องมานั่งปวดหัวกับค่าใช้จ่ายในการรีโนเวทบ้านครั้งใหญ่ หรือการซ่อมแซมที่ต้องยกใหม่ไปทั้งชุด และช่วยให้คุณได้เรียนรู้บ้านของตัวเองได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งถ้ามีจุดใดหรือส่วนไหนของบ้านที่เกิดปัญหา ก็จะได้รู้เท่าทัน และนำมาซึงการซ่อมแซมหรือแก้ไขจุดที่มีปัญหาได้อย่างทันเวลา
ขอบคุณข้อมูลจากhttps://www.babbaan.in/