วันก่อนมีโอกาสไปฟังเสวนา “ปลูกบ้านด้วยโครงสร้างปูน หรือโครงสร้างเหล็ก เรื่องไม่เล็กที่ต้องเรียนรู้และตัดสินใจ” ที่ SCG Experience จัด วิทยากร 2 ท่านที่มาให้ความรู้ คุณศักดา ประสานไทย จากฝั่งของบ้านโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก และคุณสุทธิสร สุทธิไชยากุล จากบริษัท Siam Yamato steel ตัวแทนจากฝั่งบ้านโครงสร้างเหล็ก มาถกกันในหัวข้อที่ว่าความแตกต่างระหว่างบ้านโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กกับบ้านโครงสร้างเหล็ก
วิทยากรทั้งสองท่านก็สรุปประเด็นออกมาคล้ายคลึงกับเรื่องที่ AKANEK เคยนำเสนอไปแล้ว โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก กับโครงสร้างเหล็ก อะไรเหมาะกับบ้านคุณ แต่ก็จะมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เกี่ยวกับฝั่งของของบ้านโครงสร้างเหล็กที่น่าสนใจ ก็เลยเก็บมาฝากกันเล็กๆ น้อยๆ สำหรับคนที่กำลังเก็บข้อมูลเกี่ยวกับบ้านโครงสร้างเหล็กกันอยู่
เหล็กเหมือนกัน แต่ใช้ต่างกัน
ไม่ว่าคุณจะเลือกสร้างบ้านด้วยโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กหรือบ้านโครงสร้างเหล็ก ก็ต้องใช้เหล็กเหมือนกัน คุณศักดา วิทยากรจากฝั่งบ้านโครงสร้างคอนกรีตอธิบายให้ฟังว่า จริงๆ แล้วตัวคอนกรีตแข็งแรงอยู่แล้ว รับแรงอัด แรงกดได้ดี แต่ขาดความยืดหยุ่นตัว บ้านที่สร้างด้วยคอนกรีตอย่างเดียว ถ้าเจอแผ่นดินไหวหนักๆ ลมพายุแรงๆ บ้านก็อาจจะถล่มลงมาได้เพราะรับแรงสั่นไหวไม่ได้ จำเป็นต้องเอาเหล็กที่มีคุณสมบัติยืดหยุ่นตัวสูงเข้ามาเสริม เพื่อให้ตัวคอนกรีตมีการยืดหยุ่นตัวได้ดีขึ้น (เคยเห็นคุณสมบัติความยืดหยุ่นตัวสูงของเหล็กจากสารคดีที่เกี่ยวกับวิศวกรรมการออกแบบสะพานเหล็กหลายๆ แห่ง เวลาที่มีลมแรงๆ พัดมาสะพานจะมีการบิดตัวหรือแกว่งไปมาจนน่ากลัว แต่สุดท้ายสะพานก็ไม่ได้หักหรือพังถล่มลงมา)
เหล็กที่เราจะเห็นบ่อยๆ ตามงานคอนกรีตทั่วไป คือเหล็กที่ใช้สำหรับการเทพื้นปูน ซึ่งจะเป็นเหล็กเส้น หรือเหล็กข้ออ้อย เห็นกันบ่อยในงานเทพื้นที่คนงานจะนั่งผูกเหล็กตะแกรง วางบนลูกปูนแล้วเทคอนกรีตลงไป
ส่วนเหล็กที่ใช้ในงานโครงสร้างที่เป็นคอนกรีตก็จะใช้เหล็กข้ออ้อยเช่นเดียวกัน โดยจะใช้ในงานหล่อเสาที่จะใส่เหล็กข้ออ้อยลงในแบบหล่อเสาก่อนที่จะเทคอนกรีตตามไป
สำหรับงานโครงสร้างที่เป็นโครงสร้างเหล็กทั้งหมดโดยไม่ใช้คอนกรีตเลย จะใช้เหล็กรูปพรรณ ที่นอกจากจะมีความยืดหยุ่นแล้วยังมีความแข็งแรงสามารถรับน้ำหนักได้มากมีขนาดใหญ่ สิ่งก่อสร้างที่ใช้เหล็กเป็นตัวโครงสร้างรับน้ำหนักก็มีตั้งแต่อาคารสูงอย่างตึก world trade center ของอเมริกา (ตอนนี้ไม่อยู่แล้ว) สะพาน Golden Gate Bridge สะพานพุทธฯ จนกระทั่งถึงบ้านอยู่อาศัย เหล็กรูปพรรณในงานโครงสร้างพวกนี้ก็มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ตั้งแต่ H Beam, I Beam, cut beam, channel, angle, เป็นต้น
แต่ถ้าตัดให้เหลือเฉพาะงานบ้านแล้ว ก็จะเหลือเหล็กที่ใช้อยู่ 2 ประเภท คือ เหล็ก H beam กับเหล็ก I beam ที่ใช้กับงานเสา-คาน (วิทยากรบอกว่า คนจะสับสนกับการเลือกใช้เหล็ก 2 ประเภทนี้กันมากที่สุด แต่เดี๋ยวค่อยมาดูกันว่า เหล็ก 2 ประเภทนี้ มันใช้งานต่างกันอย่างไร) ในงานวันนั้น นอกจากเหล็กที่ใช้ในงานก่อสร้างบ้านแล้ว วิทยากรที่มาให้ความรู้ยังแนะนำให้รู้จักกับเหล็กชนิดอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามาด้วย เห็นว่ารู้เอาไว้ไม่เสียหาย ก็เลยถ่ายภาพเก็บมาให้ดูเป็นตัวอย่าง
H beam เหล็กที่มองจากหน้าตัดแล้วจะเป็นรูปตัว เอช ตั้งตะแคง จะใช้ทำเสา คานในงานบ้านพักอาศัย หรืองานก่อสร้างขนาดเล็ก (ปีกเหล็กจะยาวและเป็นเส้นตรง)
I beam มองจากหน้าตัด เหล็กจะเป็นรูปตัว ไอ นอกจากแข็งแรงทนทานแล้ว ยังรับแรงกระแทกได้ดี จึงนิยมนำไปทำเป็นรางวิ่งเครนยกของตามโรงงานอุตสาหกรรม
Cut beam ใช้ในงานโครงหลังคาอาคารขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การประชุม หรืองานก่อสร้างขนาดใหญ่
Channel หน้าตัดเป็นรูปตัวซี ส่วนใหญ่จะใช้กับงานแม่บันได
Angle หน้าตัดจะเป็นรูปตัว แอล ใช้กับงานเสาสัญญาณสูง เช่น เสาสัญญาณโทรศัพท์ เสาวิทยุสื่อสารขนาดใหญ่
Sheet pile เอาไว้ใช้งานกันดินไหล ตามโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั่วไป เขาจะใช้มือตักรถแบคโฮลกดเหล็ก sheet pileปักลงไปในดิน เพื่อเป็นการกันดินรอบๆ โครงการไม่ให้สไลด์ออก หรือเมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่ครั้งที่แล้วเขาก็เอาเหล็กประเภทนี้ไปปักกันดินริมตลิ่งแม่น้ำกันน้ำกัดเซาะ
H beam หรือ I beam ?
เรื่องการนำไปใช้ ทำความเข้าใจก่อนว่า เหล็ก H beam กับ I beam นั้นเขาผลิตขึ้นมาเพื่อการใช้งานที่ต่างกัน H beam จะใช้กับงานเสา งานคานสำหรับโครงสร้างขนาดย่อมๆ เช่น งานบ้าน หรืออาคารขนาดเล็ก เพราะว่าให้ในเรื่องความแข็งแรง รับน้ำหนักได้ดี แต่อาจจะรับแรงกระแทกได้ไม่มากนัก ต่างกับเหล็ก I beam ที่เขาผลิตขึ้นมาเพื่อให้รับแรงกระแทกหนักๆ โหดๆ อย่างรางเลื่อนตัวเครนยกของหนักๆ ตามโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือโครงสร้างขนาดใหญ่
แล้วถ้าเจ้าของบ้านจะเลือกเหล็ก I beam มาสร้างบ้านจะได้มั้ย? อันนี้ก็ต้องลองถามตัวเองดูว่า จำเป็นมั้ย ที่เราต้องใช้เหล็กที่รับแรงกระแทกหนักๆ โหดๆ มาสร้างบ้าน? มุมของคุณสุทธิสร วิศวกรโยธาที่จับงานเหล็กมานาน เห็นว่า เหล็ก H beam ก็แข็งแรงเพียงพอแล้วสำหรับการสร้างบ้าน เพราะว่าบ้านของเราคงไม่เจอแรงกระแทกหนักๆ อะไรมากมาย แต่ถ้าเจ้าของจะรู้สึกว่าอยากมั่นใจอีกสักนิดว่า บ้านโครงสร้างเหล็กที่สร้างไว้จะคงทน แข็งแรง เกิดแผ่นดินไหว เกิดพายุพัดมาไม่ถล่มลงมาแน่ๆ จะขอเลือกใช้เหล็ก I beam เพื่อความอุ่นใจขึ้นมาอีกนิดก็สามารถทำได้
ด้วยความที่ I beam รับแรงกระแทกหนักๆ ได้ดีกว่า ราคาก็จะแพงกว่าตามไปด้วย ถ้าเจ้าของบ้านที่จะสร้างบ้านด้วยโครงสร้างเหล็กแล้วรู้สึกว่าทำไมราคาเหล็กที่ผู้รับเหมาประเมินมาสูงกว่าที่ตั้งเอาไว้ อาจจะลองสอบถามดูว่า เหล็กที่ใช้เป็นเหล็ก I beam หรือ H beam. เพราะว่าผู้รับเหมาที่ไม่ชำนาญงานโครงสร้างเหล็กอาจจะประเมินราคาด้วยเหล็ก I beam ก็เป็นได้
แพงวัสดุ แต่ลดค่าใช้จ่ายอื่น
คุณศักดาให้ตัวเลขค่าก่อสร้างบ้านกรณีบ้านโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก (หลังปรับค่าแรง 300บาท)ว่า ตอนนี้ ราคาต่อสร้างบ้าน ตอนนี้จะอยู่ราวๆ 17,000-30,000บ./ตร.ม. แบ่งเป็น 30% (งานโครงสร้างใต้ดิน+งานโครงสร้างบนดิน) กับอีก 70% (งานตกแต่ง ความสวยงาม)
ส่วนบ้านโครงสร้างเหล็ก ค่าวัสดุในส่วนของงานโครงสร้างใต้ดิน+งานโครงสร้างบนดิน เฉลี่ยแล้วจะสูงขึ้นกว่าวัสดุคอนกรีตประมาณ 30% เพราะเหล็กเป็นวัตถุดิบที่มีราคา แต่เจ้าของบ้านก็จะไปประยัดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ เพราะเหล็กเป็นวัสดุก่อสร้างที่ติดตั้งง่าย พึ่งพาแรงงานน้อยลงเพราะเอาเครื่องจักรมาทำงานแทน ใช้เสาเข็มน้อยลงเพราะเหล็กมีน้ำหนักเบา ใช้เวลาก่อสร้างเร็วขึ้นเพราะเป็นการประกอบติดตั้ง เพราะฉะนั้นค่าวัสดุที่เพิ่มขึ้นนี้ ก็อาจจะทำให้ค่าก่อสร้างของบ้านทั้งหลังสูงขึ้นไม่เกิน 10% ก็เป็นไปได้
ตรงนี้เจ้าของบ้านก็ต้องลองเอาไปพิจารณากันเอง คิดเล่นๆ ว่าในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า ถ้าค่าแรงปรับจาก 300 เป็น 500 หรือ 1,000บ. การสร้างบ้านด้วยโครงสร้างเหล็กก็อาจจะคุ้มกว่าบ้านโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กก็ได้ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับบ้านโครงสร้างเหล็กได้ที่นี่ บ้านโครงสร้างเหล็ก ทางเลือกที่เป็นไปได้สำหรับยุคค่าแรงแพง)
หลายคนคุ้นเคยกับการอยู่บ้านโครงสร้างที่เป็นปูน เป็นคอนกรีตมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่เมื่อราคาบ้านสูงขึั้น จะด้วยช่างหายาก วัสดุแพงขึ้น ค่าแรงแพงขึ้นหรือปัจจัยอื่นๆ แต่ละคนก็ต้องมองหาทางออกที่เหมาะกับตัวเองกัน บ้านโครงสร้างเหล็กก็ถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่อาจจะเก็บไปพิจารณา หรือบ้านไทยนาโน ของอาจารย์ชาติชาย ที่เปลี่ยนแปลงวัสดุก่อสร้าง วิธีก่อสร้าง แนวคิดการก่อสร้างใหม่เพื่อให้ได้บ้านที่มีคุณภาพในราคาที่เจ้าของบ้านจ่ายไหว หรือบ้านknock-down ของบ้านและสวน แต่ไม่ว่าจะเลือกทางเลือกไหน ถ้าเราได้ผู้ออกแบบที่ดี (สถาปนิกและวิศวกร) ได้แบบบ้านที่ดี แข็งแรง ปลอดภัย ได้ผู้รับเหมาที่ชำนาญในงานก่อสร้าง ก่อสร้างได้ถูกต้องตามแบบ และเทคนิคก่อสร้างที่วิศวกรออกแบบมา และสุดท้าย ได้ผู้ตรวจสอบที่ดีเข้ามาช่วยเราตรวจสอบคุณภาพงานก่อสร้างอีกครั้ง เราก็จะได้บ้านที่ให้ทั้งความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย สวยงาม คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป
ขอบคุณข้อมูลจากhttp://community.akanek.com/th/content/