กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กชี้ความต้องการเหล็กโลกสูงขึ้นสวน “โควิด-19” เหตุจีนฟื้นตัว ทำให้ปริมาณผลิตตามไม่ทัน ส่งผลราคาเหล็กทั่วโลกพุ่ง เชียร์รัฐหนุนใช้สินค้าเหล็ก “Made in Thailand” ช่วยฟื้นเศรษฐกิจ
นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในช่วงต้นปี 2564 นี้ อุตสาหกรรมเหล็กโลกในภาพรวมมีการปรับตัวในทิศทางบวก โดยทั้งโลกมีผลิตเหล็กปริมาณเฉลี่ยกว่า 150 ล้านตันต่อเดือน เพิ่มขึ้น 6.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยทวีปเอเชียมีการผลิตเหล็กเพิ่มขึ้น 10.1% แต่ทวีปอเมริกาเหนือ สหภาพยุโรป มีการผลิตเหล็กถดถอย -7.1% และ -3.7% ตามลำดับ

different-metal-products-stainless-steel-profiles-pd9skw3-1024x768

แม้การผลิตเหล็กของโลกมีปริมาณมากขึ้น แต่ก็ไม่เพียงต่อความต้องการใช้เหล็กที่ปรับตัวขึ้นมากกว่า โดยคาดว่าทั้งปี 2564 ความต้องการใช้เหล็กของโลกจะเพิ่มเป็น 1,874 ล้านตัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนซึ่งผลิตและใช้เหล็กมากที่สุดราว 55% ของโลก ในปี 2563 จีนต้องนำเข้าสินค้าเหล็กจากประเทศต่างๆมากถึง 18.3 ล้านตัน เพิ่มเป็น 6 เท่าจากปี 2562 โดยสินค้าเหล็กที่จีนนำเข้าสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ เหล็กแผ่นรีดร้อน 9.9 ล้านตัน เหล็กแผ่นรีดเย็น 3.8 ล้านตัน เหล็กแผ่นเคลือบ 2.4 ล้านตัน ส่งผลให้สินค้าเหล็กดังกล่าวที่จีนแย่งซื้อในตลาดโลกขาดแคลนและราคาสูงขึ้นมาตลอด โดยในปีนี้จีนยังมีความต้องการใช้เหล็กเพิ่มต่อเนื่อง อย่างไตรมาสแรก เพิ่มขึ้น 52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าทั้งปี 2564 จะมีความต้องการใช้เหล็กราว 1,025 ล้านตัน

จีนฟื้นหนุนตลาดเหล็กคึกคัก
เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งรัฐบาลจีนตั้งเป้าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ปี 2564 เติบโต 6.0% แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจของจีนสามารถเติบโตได้ถึง 8.2% – 9.5% เพราะจากข้อมูลดัชนีทางเศรษฐกิจ การลงทุนของจีนช่วงต้นปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล เช่น การลงทุนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเขตเมืองเติบโต 38.3% การลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเติบโต 34.1% การผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้น 89.9% เป็นเฉลี่ยเดือนละ 1.93 ล้านคัน การลงทุนในระบบรางเพิ่มขึ้น 52.9% การลงทุนในระบบถนนเพิ่มขึ้น 30.7% การลงทุนในด้านการบินพลเรือน เพิ่มขึ้น 84.5% เป็นต้น ส่งผลให้จีนผลิตเหล็กไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้

แม้จีนได้เร่งเพิ่มการผลิตเหล็กในช่วงต้นปีนี้ แต่โรงงานเหล็กในจีนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนครถังซาน ซึ่งถือเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมเหล็กที่มีกำลังการผลิตเหล็กดิบมากกว่า 144 ล้านตัน จำเป็นต้องลดการผลิตลงราว 50% ระหว่างช่วงฉุกเฉิน มี.ค.-มิ.ย. และบางโรงงานต้องลดการผลิตไปจนถึงสิ้นปี 2564 ตามมาตรการของรัฐบาลจีนในการควบคุมและลดมลภาวะทางอากาศ ซึ่งจะทำให้ภาวะปริมาณเหล็กไม่พอเพียงต่อความต้องการของจีนทวีความรุนแรง มีแนวโน้มยืดเยื้อไปถึงสิ้นไตรมาสที่ 3 ทำให้ราคาสินค้าเหล็กในทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เช่น ประเทศจีน ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนเมื่อกลางปี 2563 ต่ำสุดอยู่ที่ตันละ 420 ดอลลาร์ แต่ขณะนี้ราคาเสนอขายสูงขึ้นเป็น 2.2 เท่า ระหว่าง 910-925 ดอลลาร์ต่อตัน หรือในสหรัฐอเมริกา ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนขึ้นสูงสุดในโลกถึงกว่า 1,400 ดอลลาร์ต่อตัน เป็นต้น

นายนาวา กล่าวว่า อุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดในปี 2563 ซึ่งการบริโภคสินค้าลดเหลือ 16.5 ล้านตัน โดยมีอัตราการบริโภคเหล็กของคนไทย 248 กก.ต่อคนต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 229 กก.ต่อคนต่อปี แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชียที่ 299 กก.ต่อคนต่อปี โดยรัฐบาลไทยสามารถดูแลปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างได้ดี ประกอบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ และอื่นๆเริ่มฟื้นตัว

ดังนั้น ปี 2564 ตลาดเหล็กของไทยจึงฟื้นและปรับตัวตามตลาดโลกด้วย คาดว่าปริมาณความต้องการใช้เหล็กของไทยจะเพิ่มขึ้น 5-7% เป็น 17.3-17.7 ล้านตัน ทั้งนี้ การใช้เหล็กภายในประเทศไทยจะเป็นภาคการก่อสร้างมากสุด 57% ตามด้วยอุตสาหกรรมยานยนต์ 22% อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล 9% อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า 8% และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์โลหะ 5%

ผู้ผลิตเหล็กไทยชี้รัฐมาถูกทาง
นายนาวา กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท.มั่นใจว่านโยบายที่รัฐบาลได้ขับเคลื่อนมาแล้ว หากสามารถผลักดันให้หน่วยราชการปฏิบัติได้ผลจริงจะส่งผลบวกอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ได้แก่

1.การส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กที่ผลิตในประเทศที่ได้ขึ้นทะเบียน “Made in Thailand” กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรี 1 ก.ย.2563 และกฎกระทรวงการคลัง ณ วันที่ 22 ธ.ค. 2563 เรื่องกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ.2563 ให้สามารถดำเนินการได้อย่างจริงจัง จากงบประมาณรายจ่ายปีละกว่า 3.3 ล้านล้านบาท สามารถจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศได้หลายแสนล้านบาท ทั้งนี้ ผลการศึกษาวิจัยโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า อุตสาหกรรมเหล็กมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย ทั้งในส่วนของการผลิต มูลค่าจีดีพี มูลค่าและจำนวนการจ้างงาน โดยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอื่นๆในห่วงโซ่อุปทาน หากส่งเสริมการใช้สินค้าเหล็กที่ผลิตในประเทศไทยมากขึ้นจะช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนทำให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นได้อีก 0.66% ถึง 0.75% จากการเติบโตปกติ

2.การออกมาตรการทางกฎหมายการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า ซึ่ง พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ ฉบับที่ 2 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ย.2562 และใช้เวลาอีกปีกว่าจึงเพิ่งมีประกาศกระทรวงพาณิชย์ และประกาศกรมการค้าต่างประเทศ ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อ มี.ค. 2564 โดยหวังให้กระทรวงพาณิชย์จะสามารถบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และนำไปปฏิบัติได้ผลอย่างจริงจังและทันต่อเหตุการณ์

และ 3. ขอให้รัฐบาลพิจารณาขยายผลให้โครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ต่างๆ เช่น โครงการรถไฟฟ้า โครงการทางด่วน โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เป็นต้น ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวมกันอีกนับล้านล้านบาท ส่งเสริมการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศไทยด้วยเช่นกัน เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานและการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศไทย.

ขอบคุณข้อมูลจากhttps://www.thairath.co.th/business/market/2074216