เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 ทำเนียบขาวต้องออกแถลงการณ์ว่า สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีเหล็กจีน 3 เท่า จากเดิมที่เก็บ 7.5% ตามมาตรา 301 ของกฎหมายทางการค้า (Trade Act 1974) โดยให้อำนาจกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ หรือ USTR เข้าไปจัดการ

เหล็กจีนดัมพ์ตลาดโลก “เหล็กไทย” นับถอยหลัง

นอกจากนี้ยังให้กระทรวงพาณิชย์ ขึ้นภาษีเหล็กจีนที่เป็นการทุ่มตลาดในสหรัฐฯ จำนวน 30 รายการ และเข้าไปตรวจสอบเหล็กที่นำเข้ามาจากเม็กซิโกว่า เป็นเหล็กจีนที่ส่งผ่านเม็กซิโกเพื่อเลี่ยงภาษีหรือไม่ ขณะเดียวกันให้มีการลงทุน “Clean American Made Steel” ตามกฎหมาย Infrastructure Law กฎหมาย Inflation Reduction Act และกฎหมาย CHIPS and Science Act

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมีนาคม 2561 สหรัฐฯก็ได้ใช้มาตรา 232 ของกฎหมายการค้า 1962 ของสหรัฐฯ (Trade Expansion Act 1962) เก็บภาษีนำเข้าเหล็ก 25% กับประเทศคู่ค้า ซึ่งเป็นไปตามรายงาน “The Effect of Imports of Steel on the National Security”

เหล็กจีนทำอุตสาหกรรมเหล็กโลกสั่นสะเทือน เพราะ “จีนเป็นเบอร์หนึ่งเหล็กโลกทั้งการผลิตและการส่งออก” โดยผลิตสัดส่วน 54% ของผลผลิตโลก ตามด้วยยุโรป ญี่ปุ่น และอินเดีย จีนผลิตเหล็กปีละ 1,000 ล้านตัน ใช้ในประเทศ 900 ล้านตัน ที่เหลือส่งออก แต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จีนส่งออกเหล็กเพิ่มขึ้น เพราะมีปัญหาภาคอสังริมทรัพย์ ทำให้มี “เหล็กเหลือใช้ในประเทศมาก”

เหล็กจีนผลิตร้อยละ 70 ตามชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เช่น มณฑลเหอเป่ย (Hebei) อยู่ทางตอนเหนือติดกับกรุงปักกิ่งและมณฑลซานตงที่ถือได้ว่าเป็น “เมืองหลวงเหล็กของจีน” เมืองเหล่านี้มีกำลังการผลิตมากกว่า 100 ล้านตันต่อปี ตลาดส่งออกเหล็กจีนอยู่ที่อาเซียน (สัดส่วน 33% ของการส่งออก)

ขณะที่ “เวียดนาม” เป็นเบอร์หนึ่งการผลิตเหล็กอาเซียน ปี 2561 เวียดนามผลิตเหล็ก 14.5 ล้านตันต่อปี (ความต้องการ 22 ล้านตันต่อปี) และคาดว่าจะผลิตได้ที่ 66 ล้านตันในปี 2578

ส่วนประเทศไทยผลิตเหล็ก (Supply) ในปี 2557 เท่ากับ 8.7 ล้านตัน ขึ้นไปสูงสุดที่ 9.5 ล้านตัน และในปี 2566 ผลิตต่ำสุดที่ 6.5 ล้านตัน ในขณะที่ปี 2557 ความต้องการใช้เหล็กในประเทศ (Demand) อยู่ที่ 19 ล้านตัน เหลือ 18 ล้านตันในปี 2561  และในปี 2566 เหลือ 16 ล้านตัน

เมื่อเทียบการผลิตกับความต้องการใช้ พบว่าความต้องการมีมากกว่าการผลิตอยู่ราว 10 ล้านตัน ไทยจึงต้องนำเข้าเหล็กปีละมากกว่า 10 ล้านตัน แต่หากรวมการนำเข้าวัตถุดิบด้วยไทยนำเข้าเป็น 20 ล้านตัน ซึ่งใกล้เคียงกับการนำเข้าของสหรัฐฯ และยุโรป

“ไทยนำเข้า 3 เท่าของการผลิตภายในประเทศ” แต่สหรัฐฯ นำเข้าน้อยกว่าผลิตในประเทศ 4 เท่า การนำเข้ามากแบบนี้ หมายความว่า ผู้ผลิตเหล็กไทยไม่มีกำลังการผลิตหรือ? จึงต้องนำเข้า ความจริงแล้ว “ไม่” ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพการผลิต แต่เราใช้ไม่เต็ม 100%

ปี 2560 ไทยใช้กำลังการผลิตเหล็กเพียง 39% ปี 2566 ใช้กำลังการผลิตลดลงเหลือ 30% สถานการณ์แบบนี้เพราะประเทศไทย ยังไม่สามารถปิดช่องโหว่ของมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือ AD ได้ทันท่วงทีกับการหลบเลี่ยงของต่างประเทศโดยเฉพาะจากประเทศจีน เพราะถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีมาตรการตอบโต้การค้าที่ไม่เป็นธรรมสำหรับสินค้าเหล็กหลายรายการ แต่กลับแสดงประสิทธิภาพได้ไม่เต็ม 100%

ทั้งนี้เนื่องจากมีการหลบเลี่ยงมาตรการมาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น  มีมาตรการกับเหล็กเคลือบแบบหนึ่ง ก็ส่งออกมาเป็นเหล็กเคลือบอีกแบบ หรือการปนอัลลอยเล็กน้อยในสินค้าเหล็ก เพื่อเปลี่ยนพิกัดศุลกากรให้ไม่อยู่ในขอบข่ายการใช้มาตรการ AD  แต่ในกรณีหลังมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากหน่วยงานภาครัฐที่จะเริ่มมีการใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า หรือ AC (Anti-Circumvention) ซึ่งเป็นมาตรการแรกหลังจากที่มีกฎหมายในปี 2562 (การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562)

นับเป็นเรื่องที่ดีให้ผู้ผลิตในประเทศเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของการอยู่รอดของอุตสาหกรรม และน่าจะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเหล็กจากจีนของประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นหากมีการบังคับใช้มาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามสินค้าเหล็กที่ยังคงมีพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ผลิตในประเทศก็จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไม่ว่าจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือการเรียกเก็บอากรนำเข้าซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศด้วย

เหล่งข้อมูล : ฐานเศรษฐกิจ 

https://www.thansettakij.com/columnist/deep-asean-plus/596689