“อุตสาหกรรมเหล็ก” ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ไทยยังมีความสามารถ และเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศไทยได้ แต่เช่นเดียวกับทุกภาคเศรษฐกิจของประเทศ “วิกฤติโควิด” ได้ส่งผลกระทบต่อ “ความต้องการใช้เหล็กทั่วโลก”

ขณะเดียวกัน “ธุรกิจเหล็กไทย” ยังต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาพลังงาน และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กทั่วโลกของจีนลดทอนขีดความสามารถการแข่งขันทางการค้า

โดยที่ผ่านมา ภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้พยายามแก้ปัญหา อุดช่องโหว่ และเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมเหล็กไทยมาโดยตลอด แต่ส่วนหนึ่งก็ยังต้องการการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นจากภาครัฐ เพื่อร่วมกันยกระดับอุตสาหกรรมเหล็กไทยให้เป็น “อุตสาหกรรมพื้นฐาน” ที่ส่งเสริมภาคการผลิต และการก่อสร้างในประเทศไทยและแข่งขันได้ในเวทีโลก

ขณะที่ทิศทางของอุตสาหกรรมเหล็กในปี 2566 นั้น “นาวา จันทนสุรคน” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) วิเคราะห์ว่า “ราคาสินค้าเหล็กในตลาดโลกปี 2565 ที่ขึ้นไปสูงในไตรมาส 2 ได้ปรับลงตั้งแต่ไตรมาส 3 น่าจะถึงจุดต่ำสุดในไตรมาสสี่นี้ จากนั้นราคาจะค่อยๆฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ ตามภาวะ เศรษฐกิจของโลกและแต่ละภูมิภาค”

อย่างไรก็ตาม ปี 2566 คาดว่าความต้องการใช้เหล็กของโลกจะเพิ่มขึ้นเพียง 1% เป็น 1,814.7 ล้านตัน โดยจีนซึ่งใช้ เหล็กมากที่สุดในโลก จะมีความต้องการใช้เหล็กทรงตัวที่ 914 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 50.4% ของทั้งโลก หรืออาจมีทิศทางบวก หากรัฐบาลจีนผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ป้องกันโควิด

ในขณะที่บางภูมิภาคของโลก จะประสบปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง ได้แก่ รัสเซีย ยูเครน และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) ซึ่งความต้องการใช้เหล็กปีหน้าถดถอย ลงต่อเนื่องอีก 6.7% กลุ่มประเทศยุโรป ความต้องการใช้ลดลงต่อเนื่องอีก 1.3% ส่วนกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ จะมีความต้องการใช้เพิ่ม 3.9% เป็น 71.1 ล้านตัน และอาเซียนจะมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นราว 6% เป็น 81.4 ล้านตัน

สำหรับประเทศไทย ความต้องการใช้เหล็กปี 2566 น่าจะฟื้นตัวใกล้เคียงกับปี 2564 ราว 18.6 ล้านตัน เนื่องจากผลเชิงบวกทางธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่ดีขึ้น รวมทั้งการก่อสร้างภาครัฐที่ยังเดินหน้าต่อเนื่อง จากงบลงทุนกว่า 400,000 ล้านบาท ในงบประมาณปี 2566 แม้การก่อสร้างภาคเอกชนอาจยังเผชิญปัญหาสืบเนื่องจากภาวะอัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งทำให้ต้นทุนการก่อสร้างสูง

แหล่งที่มา : Thairath
อ่านต่อได้ที่ https://www.thairath.co.th/