คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดฯ ต่ออายุเก็บภาษี AD เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน จากจีนและมาเลเซีย อีก 5 ปี ถึงปี 2571 เหตุหากยกเลิกเก็บ จะทำให้การทุ่มตลาดกลับมา และผู้ผลิตในประเทศเสียหายอีก

วันที่ 24 กรกฎาคม 2566 รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ออกประกาศ คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) เรื่อง ผลการพิจารณาทบทวนความจำเป็นในการใช้บังคับอากรตอบโต้การทุ่มตลาดต่อไป ตามมาตรา 57 พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542

กรณีสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน ที่มีแหล่งกำเนิดจากจีนและมาเลเซีย โดยให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) เหล็กดังกล่าวจาก 2 ประเทศต่อไปในอัตราเดิม เป็นระยะเวลา 5 ปี รวมทั้งสิ้น 162 รายการ โดยสินค้าจากจีน ให้เรียกเก็บในอัตา 30.91% ของราคา CIF (ราคาสินค้ารวมค่าขนส่งและค่าประกันภัย) ส่วนมาเลเซีย เก็บที่ 23.57-42.51% เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. 2566-10 ก.ค. 2571

ทั้งนี้ สาเหตุที่คณะกรรมการทุ่มตลาดฯ ให้เรียกเก็บภาษีเอดีต่ออีก 5 ปี เนื่องจากพิจารณาแล้ว พบว่า การยุติการเรียกเก็บภาษี AD จะทำให้สินค้าดังกล่าวจาก 2 ประเทศ เข้ามาทุ่มตลาดในไทย (ขายสินค้าราคาต่ำกว่าราคาขายในประเทศผู้ผลิต) และอาจทำให้ผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันของไทยได้รับความเสียหายต่อไป หรือฟื้นคืนมาอีก

ดังนั้น การยกเว้นการเก็บ หรือเก็บในอัตรา 0% สำหรับการนำเข้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ ปริมาณรวมไม่เกิน 1,000 ตันต่อปี เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ปริมาณรวมไม่เกิน 1,000 ตันต่อปีเช่นกัน รวมถึงการนำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกภายใต้กฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

สำหรับการเก็บภาษี AD ดังกล่าว ไทยเรียกเก็บกับสินค้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน จากจีนและมาเลเซีย มาตั้งแต่ปี 2554 และพิจารณาทบทวนความจำเป็นของการเก็บภาษีมาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2559 และปี 2565

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 คณะกรรมการทุ่มตลาดฯ ได้ต่ออายุการเก็บภาษีเอดีเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน จากบราซิล อิหร่าน และตุรกี เป็นเวลา 5 ปีจนถึงเดือน มิ.ย. 2571 เพราะการยุติการเรียกเก็บภาษี AD จะทำให้สินค้าดังกล่าว เข้ามาทุ่มตลาดในไทย และอาจทำให้ผู้ผลิตของไทยได้รับความเสียหายต่อไป หรือฟื้นคืนมาอีก โดยสินค้าจากบราซิลถูกเก็บภาษี 34.40% ของราคา CIF, อิหร่าน 7.25-38.27% และตุรกี 6.88-38.23% โดยเหล็กดังกล่าวใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมก่อสร้าง

แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ