ขึ้นชื่อว่า อุตสาหกรรมเหล็ก ทุกวันนี้ยังไม่ได้แข็งแรงเหมือนชื่อ กว่า 20 ปีที่ผ่านมา ตกอยู่ในสภาพติดหล่มเป็นระยะ เส้นทางของเหล็กไทยแท้จริงน่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง พอเหล็กเริ่มผลิตได้ รัฐบาลโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก็อุ้มผู้ผลิตโดยใช้มาตรการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ (Surcharge) เหล็ก ภายใต้หลักการให้เฉพาะกลุ่มเหล็กที่อยู่ในระหว่างกระบวนการสอบสวนการเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (เอดี) ต่อมาก็มีมาตรการเอดี มาตรการอื่น ๆ ตามมาเป็นระลอก เพื่อสกัดเหล็กนำเข้า แต่กำแพงปกป้องเหล่านี้มีเงื่อนเวลา และไม่สามารถต้านพลังการเข้ามาทุ่มตลาดเหล็กจากประเทศต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะจีน หรือ ประเทศอื่นที่มีเหล็กต้นน้ำ และมีขนาดกำลังผลิตปริมาณมากทำให้ได้เปรียบกว่าในแง่ต้นทุนผลิตรวม
วิกรม วัชรคุปต์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมัยที่ 2 ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” สะท้อนความเห็นถึงนโยบายเหล็ก 4.0 และการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเหล็กในขณะนี้ รวมถึงข้อกังวลต่อมาตรา 232 จากสหรัฐอเมริกา
มองนโยบายอุตเหล็ก 4.0
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก แสดงความเห็นว่า นโยบายอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 ที่ 7 สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กเสนอต่อกระทรวงอุตสาหกรรมไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีทั้งมาตรการระยะสั้นและมาตรการระยะกลาง-ยาว โดยเฉพาะมาตรการระยะสั้นที่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องปกป้องคุ้มครองอุตสาหกรรมเหล็กที่คุยกันมานานแล้ว และส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มีเรื่องมาตรการปกป้องทั้งในรูปของมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) หรือ เอดี และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าเหล็กที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) รวมถึงเรื่องการกำหนดมาตรฐานเหล่านี้ เป็นเรื่องของการช่วยบรรเทาปัญหา แต่ยังไม่ได้เกิดการพัฒนาหรือแก้ปัญหาอุตสาหกรรมเหล็กอย่างแท้จริง เนื่องจากต้นเหตุมาจากโครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็กของไทยเป็นโครงสร้างที่มีปัญหา เป็นการผลิตที่ไม่ครบวงจร และยังมีการผลิตเหล็กบางประเภทที่ล้นตลาดอยู่จำนวนมาก เช่น กลุ่มเหล็กเส้น หรือ กลุ่มเหล็กทรงยาว ที่มีกำลังผลิตเกินความต้องการใช้ (มีกำลังผลิตรวมกว่า 13 ล้านตันต่อปี แต่ผลิตได้จริงเพียง 3.9 ล้านตัน หรือ 30% ของกำลังผลิตเต็ม) เหล่านี้ คือ เหตุผลที่ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กเกิดปัญหา NPL ก็มีการหารือกันว่า ต้องปรับลดกำลังผลิตลง แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการปรับลด กลับสวนทางกันเกิดขึ้น เพราะยังมีการอนุญาตให้ตั้งโรงงานใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่อง
ต่อมา ระยะหลังเริ่มมีเทคโนโลยีเตาหลอมแบบ Induction Furnace ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเก่า รวมทั้งเครื่องจักรเก่าจากจีนเข้ามา ซึ่งไม่เหมาะที่จะนำมาผลิตเหล็กเส้น เพราะใช้พลังงาน แต่จะเหมาะสำหรับการผลิตที่มีระยะเวลาผลิตนาน ๆ เช่น โรงหล่อ และเกิดการสูญเสียเนื้อเหล็กน้อยกว่า ซึ่งขณะนี้ มีโรงงานผลิตเหล็กหลายรายที่สนใจใช้ Best Available Technologies (BAT) and Practices เป็นการลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิต มีทั้งกลุ่มที่ผลิตเหล็กด้วยเตาหลอมเหล็กไฟฟ้า (EAF) กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กด้วยกระบวนการรีดร้อน (RHF) เป็นต้น
ขานรับมาตรการระยะยาว
ส่วนมาตรการระยะกลาง-ยาว ตามนโยบายเหล็ก 4.0 นั้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจ หากทำได้จะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งบางเรื่องก็เคยพูดถึงกันมานาน แต่ไม่ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังจากภาครัฐ เช่น เรื่องที่พูดถึงความมั่นคงของเหล็กต้นน้ำตรงนี้ เราต้องพูดถึงการพัฒนาประเทศโดยรวม จะต้องพูดถึงโครงสร้างทางสังคมด้วย ต้องมีการลงทุนโดยภาครัฐ ทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล การเติบโตของเมืองในพื้นที่เหล่านี้จะต้องมาควบคู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ด้วย
นอกจากนี้ ที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 ยังมีการพูดถึงระบบซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพ และการเชื่อมโยงเหล็กไปสู่เซ็กชันก่อสร้าง มีเรื่องการวิจัยและพัฒนาเหล็กคุณภาพสูง เรื่องเหล่านี้จะทำได้ภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมมือกัน มีเงินมาใช้สำหรับการพัฒนา ไม่ใช่นำเทคโนโลยีเก่า ๆ เข้ามาใช้ อยากให้ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมจีนถึงโละเครื่องจักรเก่าออกมา เริ่มมีเครื่องจักรเก่าจากจีนเข้ามาไทย ทำไมเราไม่หยุดโดยระงับการนำเข้าเครื่องจักรเก่าที่ล้าสมัยเข้ามาใช้ในไทย ไม่เช่นนั้นแล้ว ก็เข้ามาสร้างปัญหามลพิษและเกิดการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง
มาตรา 232 รัฐต้องเจรจา
สำหรับกรณีอเมริกา เดินมาตรา 232 เรื่องนี้ต้องกล่าวถึงสาเหตุก่อนว่า การที่อเมริกาแตะเรื่องเหล็ก และอะลูมิเนียม เพราะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศมีอาวุธ มีเรื่องขนส่ง อาหาร มีความสำคัญต่อประเทศ และอัตรการผลิตเหล็กในอเมริกาก็ลดลง เพราะถูกประเทศอื่นเข้ามาขาย จึงออกมาตรการนี้ออกมา แต่ก็จะเห็นว่า มีหลายประเทศได้รับการผ่อนปรน เนื่องจากรัฐบาลของแต่ละประเทศไปเจรจา ทั้งแคนาดา เม็กซิโก อียู เกาหลี ขณะที่ ของไทยอยู่ในอันดับที่ 11 ที่มีปริมาณส่งเหล็กเข้าไปยังอเมริกา เป็นมูลค่า 10,479 ล้านบาท หรือ 383,496 ตัน มีทั้งท่อเหล็ก เหล็กแผ่นรีดเย็น และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ซึ่งภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องไปเจรจาเพื่อแก้ปัญหานี้ ไม่เช่นนั้น ผู้ส่งออกเหล็กไทยที่พึ่งพาตลาดอเมริกากระทบ โดยเฉพาะช่วงรอยต่อที่ยังหาตลาดใหม่ทดแทนไม่ได้
อย่างไรก็ตาม มองว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กนับจากนี้ไป จะเกิดการแข่งขันมากขึ้น สงครามการค้าในรูปแบบต่าง ๆ จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น พฤติกรรมการใช้เหล็กจะมีความซับซ้อนมากขึ้น ถ้าไม่เร่งปรับตัวทำอะไรเลยจะยิ่งลำบาก เพราะที่ผ่านมา เรายังไม่ได้โฟกัสและปฏิบัติจริงในแง่การพัฒนา และยกระดับอุตสาหกรรมเหล็ก ถ้าเราพัฒนาและเข้าถึงตลาดได้ก็จะเป็นโอกาสของเรา
แหล่งที่มา : ฐานเศราษฐกิจ