ราคาเหล็กเส้นขยับ กก.ละ 1 บาท ส.ผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์กไฟฟ้า โอดต้นทุนเชื้อเพลิงพุ่ง 7 เท่า วัตถุดิบเศษเหล็กขาดตลาด กำลังซื้อครึ่งปีแรกซบ หวังโครงการลงทุนภาครัฐ-อีอีซี กระตุ้นกำลังซื้อครึ่งปีหลังดันยอดโต 5%
นายชัยเฉลิม บุญญานุวัตร กรรมการสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์กไฟฟ้า เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ต้องมีการปรับราคาขายปลีกเหล็กเส้นขึ้นเฉลี่ย กก.ละ 1 บาท เนื่องจากขณะนี้เกิดปัญหาเศษเหล็กซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กเส้น ที่ไทยต้องนำเข้าจากตลาดโลกขาดแคลน ภายหลังจากรัฐบาลสหรัฐประกาศใช้มาตรา 232 ปรับขึ้นภาษีสินค้าเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมภายในหันไปใช้เศษเหล็กที่ผลิตได้ในประเทศ ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกเศษเหล็ก (สเคป) ออกมายังตลาดโลกลดลง เกิดภาวะซัพพลายเศษเหล็กตึงตัว ทำให้ราคาเศษเหล็กขยับขึ้น กก.ละ 19.40-19.50 บาท จากเดิม กก.ละ 18 บาท ผู้ผลิตหลายรายเริ่มจะนำเข้าไม่ไหวเพราะราคาสูง ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยใช้วัตถุดิบเศษเหล็กนำเข้าสัดส่วน 20-25%
ประกอบกับต้นทุนแท่งถ่านที่ใช้ในการหลอมเหล็ก (กราไฟต์อิเล็กโทรด) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต ปรับราคาสูงขึ้น 7-8 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยต้องนำเข้ากราไฟต์
อิเล็กโทรดจากจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายเดียวของโลก แต่ปัจจุบันรัฐบาลจีนให้ความสำคัญต่อประเด็นการผลิตสินค้าจากโรงงานที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงมีการปิดโรงงานกราไฟต์อิเล็กโทรด ทำให้ปริมาณสินค้าในตลาดลดลง ส่งผลให้ราคากราไฟต์อิเล็กโทรดขณะนี้ปรับขึ้นไปอยู่ที่ตันละ 16,000-17,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากเดิมราคาเพียง 2,500 เหรียญสหรัฐต่อตัน โดยระดับราคานี้ปรับลดลงจากช่วงที่เคยขึ้นไปสูงสุดตันละ 25,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตเหล็กเตาอาร์ก
ขณะที่ภาวะตลาดและความต้องการใช้เหล็กในประเทศช่วงครึ่งปีแรกชะลอตัว การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ไม่ค่อยคืบหน้าเท่าที่ควร ทำให้ปริมาณความต้องการใช้เหล็กไม่มาก ผู้ผลิตเหล็กจึงสามารถใช้กำลังการผลิตเพียง 30-35% ของกำลังการผลิตรวม ซึ่งปกติควรจะใช้กำลังการผลิตให้ได้อีก 70-75% ของกำลังการผลิตภาพรวม 4 ล้านตันจึงจะถึงจุดสมดุล
“ปกติเหล็กเส้นก่อสร้างมีกำลังการผลิตที่ล้นความต้องการอยู่ ส่วนใหญ่ผลิตใช้ภายในมีการนำเข้ามาน้อย ปัญหาเหล็กเบาจึงเกิดขึ้นจากผู้ผลิตบางกลุ่มที่อาศัยช่องว่างในการตรวจสอบ เหล็กเส้นผลิต 1.7 แสนตัน แต่กำลังการผลิต 3-4 ล้านตัน ใช้กำลังการผลิตอยู่ประมาณ 30-35% เท่านั้น แม้ว่าจะส่งออกบ้างแต่ก็ไม่มาก ส่วนใหญ่ใช้ในประเทศ ซึ่งกำลังซื้อในช่วงครึ่งปีแรกชะลอตัว”
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลังจากกลางปีไปแล้วคาดว่าการก่อสร้างโครงการใหญ่มากขึ้น ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมนี้ขยายตัวได้ 4-5% ทั้งนี้ หากมีการสนับสนุนให้ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศจะยิ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้เหล็กเพิ่มขึ้น
นายชัยเฉลิมยืนยันว่า มาตรฐานเหล็กที่ผลิตในประเทศขณะนี้สูงพอที่จะใช้ในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่ออกแบบโดยต่างประเทศได้ เช่น ก่อนหน้านี้ทางสมาคมได้ร่วมเรียกร้องให้ใช้เหล็กไทยในการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน และได้รับการยอมรับให้ใช้มาตรฐานเหล็กที่ผลิตในไทย แต่โครงการนี้ในเฟสแรกมีก่อสร้างเพียง 3.5 กม. ซึ่งจะยังมีการใช้เหล็กเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ส่วนกรณีที่รัฐบาลพยายามจะส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะมีการประมูลโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ คาดว่าจะส่งผลดีต่อความต้องการใช้เหล็กในปี 2562
นายชัยเฉลิมกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาไทยพบปัญหาการนำเข้าเหล็กเบาที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งหากผู้บริโภคนำไปใช้งานก็อาจจะมีความเสี่ยงในด้านความปลอดภัย สาเหตุสำคัญมาจากปัจจุบันผู้บริโภคไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเลือกใช้เหล็กในการก่อสร้างว่าจะใช้เหล็กแบบไหน เพราะการซื้อเหล็กในการสร้างบ้านผ่านจากทางผู้รับเหมา แต่ผู้บริโภคมักจะไปให้ความสำคัญกับส่วนประกอบอื่นของบ้าน เช่น สุขภัณฑ์ หรือกระเบื้อง ซึ่งไม่ได้มีผลเชื่อมโยงต่อความปลอดภัยเท่ากับเหล็ก ฉะนั้น เราอยากให้ผู้บริโภคพยายามให้ความใส่ใจในการใช้เหล็กเส้นก่อสร้างในการสร้างบ้าน จึงได้รณรงค์ “เรื่องเหล็กไม่ใช่เรื่องเล็ก” อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ต้นทุนในการใช้เหล็กมีสัดส่วน 2% ของต้นทุนการสร้างบ้าน เช่น บ้านราคา 2 ล้านบาท จะใช้เหล็กประมาณ 40,000 บาท
สำหรับการปรับมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) เหล็กเส้นกลม 20-2559 และเหล็กข้ออ้อย 24-2559 เพื่อใช้แทน มอก.ฉบับเก่าที่ใช้มานานเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยเพิ่มเงื่อนไขให้เพิ่มชื่อประเภทเตาหลอม และเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบค่าเคมีจาก 5 รายการ เป็น 19 รายการ และพิมพ์ตัวนูนชื่อผู้นำเข้าเหล็กนั้น นายชัยเฉลิมมองว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต เพราะได้มีการเตรียมพร้อมมาตั้งแต่ปี 2560 แล้ว แต่ก็มีส่วนที่จะทำให้ต้นทุนของการผลิตเหล็กจากเตาอาร์กไฟฟ้า (EF) สูงกว่าเหล็กที่ผลิตจากเตาชนิดอื่น
สอดคล้องกับมุมมองของนายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานกลุ่มเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่มองว่า การปรับมาตรฐานครั้งนี้ ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้เหล็ก หากเพิ่มการดึงสิ่งเจือปนออกจะทำให้ได้เหล็กคุณภาพดี
แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ